NEWS ยืนยันแตกพาร์เป็นหุ้นละ 1 บ. ส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น

NEWS ยืนยันแตกพาร์เป็นหุ้นละ 1 บาท จากเดิม 5 บาท ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างแท้จริง-สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย


บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ระบุว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้คณะกรรมการของบริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีมีมติเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) ให้ครบถ้วน จาก 5 บาทเป็น 1 บาท รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ Par ดังกล่าว

โดยบริษัทได้ชี้แจงว่า การแตกพาร์จะเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในตลาด ลดการกระจุกตัวของหุ้นทำให้หุ้นมีสภาพคล่องในการซื้อขายเพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มการกระจายการถือหุ้นไปยังผู้ถือหุ้นในวงกว้าง ระดมทุนได้ตามเป้าหมาย และจะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยคณะกรรมการบริษัทเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) จะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขอให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมหลังคำชี้แจงของบริษัทยังไม่สอดคล้องกับแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีหนังสือเวียนซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) โดยในขณะที่ปัจจุบันหลักทรัพย์ของบริษัทมีจำนวนทุนจดทะเบียนถึง 8,508,100,847 หุ้น มี Turnover Ratioอยู่ในระดับ 100% รวมทั้งมีผู้ถือหุ้นรายย่อย 8,637 ราย คิดเป็นสัดส่วน 78% ของทุนชำระแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีราคาหุ้นเพียงหุ้นละ 0.13-0.31 บาท (Par 5 บาท) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) ได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเวียนของตลท. เรื่องขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ต่อหุ้นของบริษัท (Stock Split) ทุกประการ แต่เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และยังปรากฏว่า เดิมบริษัทก็เคยกำหนดมูลค่าหุ้นที่ตรา หุ้นละ 1 บาท จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 บริษัทได้เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้เป็นหุ้นละ 5 บาท

โดยหากพิจารณาสถิติการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วงระยะเวลา 513 วัน ในขณะที่พาร์ 5 บาท Turnover Ratio  จะอยู่ที่ 0.99% ต่อวัน หรือ 249.48% ต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบพาร์ 1 บาท Turnover Ratio ในช่วงระยะเวลา 513 วันเช่นเดียวกัน จะอยู่ที่ 2.14%ต่อวัน หรือ 539.28% ต่อปี ในขณะที่บริษัทมีจำนวนผู้ถือหุ้นลดลงจาก 13,592 คนในปี 2558 มาเป็น 8,926 คนในปัจจุบัน

ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัท ได้รับฟังคำชี้แจงของผู้บริหารบริษัทแล้ว เห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวชอบด้วยเหตุผลและน่าจะเป็นผลดีกับผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตามคณะกรรมการได้ขอทราบความเห็นทางกฎหมายจากที่ปรึกษากฎหมายว่า สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งได้รับคำยืนยันว่า สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนั้นต่อมาตลาดหลักทรัพย์ได้ออกหลักเกณฑ์ ฉบับที่ บจ. (6) 14/2559 ฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2559 ได้กำหนดเรื่องการแตกพาร์ ต้องไม่น้อยกว่าหุ้นละ 0.50 บาท (ห้าสิบสตางค์) ซึ่งการลดพาร์ ครั้งนี้ได้ลดที่ราคา 1 บาท จึงเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

ทั้งนี้คณะกรรมการจึงพิจารณาแล้วเห็นว่า คำชี้แจงของบริษัทเรื่องการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะไม่สอดคล้องกับคำแนะนำของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในทุกประเด็นตามหนังสืสือซักซ้อมความเข้าใจ แต่การลดพาร์ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างแท้จริง โดยจะเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในตลาดลดการกระจุกตัวของหุ้น ทำให้หุ้นมีสภาพคล่องในการซื้อขายเพิ่มขึ้นสามารถเพิ่มการกระจายการถือหุ้นไปยังผู้ถือหุ้นในวงกว้าง

รวมทั้งช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย รวมถึงจะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอนุมัติให้ลดพาร์และเพิ่มทุนดังกล่าว อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงพาร์ ต้องได้รับการอนุมัติจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 พ.ค. คณะกรรมการของ NEWS ให้เปลี่ยนแปลงพาร์ จากเดิมหุ้นละ 5 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.82 แสนล้านบาท จากเดิม 4.25 หมื่นล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 239,420 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวน 157,300 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 5 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.013 บาท

รวมทั้งจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 62,920 ล้านหุ้นเพื่อใช้รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ครั้งที่ 6 (NEWS-W6) ที่บริษัทจะออกจำนวนไม่เกิน 62,920 ล้านหน่วยให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 5 หุ้นเพิ่มทุนใหม่ ต่อ 2 วอร์แรนต์ ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือใช้รองรับวอร์แรนต์ NEWS-W4 และ NEWS-W5

X
Back to top button