KSL เล็งซื้อกิจการเครื่องดื่มต่อยอดธุรกิจน้ำตาล จ่อควบรวมโรงไฟฟ้ากับพันธมิตรเสริมศักยภาพ

KSL เล็งซื้อกิจการเครื่องดื่มต่อยอดธุรกิจผลิตน้ำตาล ลุ้นกำไรงวดปี 60/61 ทะลุ 500 ลบ.รับปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม จ่อนำธุรกิจไฟฟ้าควบรวมรายอื่น


นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในงวดปี 60/61 (พ.ย.60-ต.ค.61) ในส่วนของกำไรปกติจะทำได้ดีกว่าระดับราว 500 ล้านบาทในปี 59/60 หลังคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะเพิ่มขึ้นราว 20% มาที่ 8.5-9.0 ล้านตันอ้อย จากระดับ 6.83 ล้านตันอ้อยในปีที่แล้ว ทำให้มีมาร์จิ้นดีขึ้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของรายได้จากธุรกิจน้ำตาลปี 60/61 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 10% จากระดับ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้วเท่านั้น เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำตาลจะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ราว 15 เซนต์/ปอนด์ จากราว 16-17 เซนต์/ปอนด์ในปีที่แล้ว เนื่องจากตลาดที่โอเวอร์ซัพพลาย ตามปริมาณอ้อยที่มากจากภาวะฝนที่ดี อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วย

ขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะดีขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่ารายได้จะดีขึ้นจากราว 1 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะราคาขายจะยังทรงตัว แต่เนื่องจากมีปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีกากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ส่วนธุรกิจเอทานอล ล่าสุดได้ควบรวมกับธุรกิจชีวภาพของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เป็นบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI) ซึ่ง KSL ถือหุ้นในสัดส่วน 40% นั้น ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าบริษัทจะรับรู้เป็นส่วนแบ่งกำไร หรือจะบันทึกเป็นรายได้เข้ามา ซึ่งหากบันทึกเป็นสัดส่วนกำไร ก็อาจจะกระทบภาพรวมของรายได้ในปี 60/61

ด้านธุรกิจน้ำตาลในลาวและกัมพูชา น่าจะยังไม่ดีนักในปีนี้ จากผลของราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ลดลง

“ปีที่แล้วเรามีรายการพิเศษเข้ามาเยอะ แต่ถ้าดูกำไรปกติน่าจะทำได้แค่ 500 ล้านบาทจาก 3 ธุรกิจ ส่วนปีนี้ก็น่าจะดีขึ้นถ้าเทียบกำไรปกติ เพราะปริมาณอ้อยเพิ่ม ทำให้ตัวน้ำตาลมีมาร์จิ้นดีขึ้น…ปีนี้จะเป็นปีแรกที่งบไม่เหมือนเดิม เพราะธุรกิจเอทานอลเราไปรวมกับบางจาก เข้าใจว่าจะไม่ได้รับรู้เป็นรายได้ก็อาจจะทำให้รายได้ลดลงไปด้วย”นายชลัช กล่าว

อนึ่ง ปี 59/60 (พ.ย.59-ต.ค.60) KSL มีกำไรสุทธิ 1.97 พันล้านบาท โดยมีรายได้รวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้เป็นรายได้จากการขายและบริการ 1.56 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรจากการควบรวมธุรกิจเอทานอล กับธุรกิจชีวภาพของ BCP ราว 1.9 พันล้านบาทหลังหักภาษี และมีบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 223 ล้านบาท และบันทึกสำรองค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานเพิ่มขึ้น 56 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายชลัช กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจเอทานอลกับธุรกิจชีวภาพของ BCP ทำให้ธุรกิจมีโอกาสที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่บริษัทมีเพียงโรงผลิตเอทานอล 2 แห่ง ก็จะมีโรงงานไบโอดีเซลของ BCP เพิ่มเข้ามา และยังจะต่อยอดไปยังธุรกิจด้านชีวภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต ทำให้บริษัทมองโอกาสที่จะนำธุรกิจผลิตไฟฟ้า ที่ปัจจุบันมีการผลิตราว 52 เมกะวัตต์ (MW) ไปควบรวมกับผู้ประกอบกิจการไฟฟ้ารายอื่น เพื่อสร้างศักยภาพในการเติบโตได้อย่างรวดเร็วในอนาคต ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าอยู่ค่อนข้างมาก

“สิ่งที่ควรทำคือเอากองนี้ (ธุรกิจไฟฟ้า) ไปรวมกับผู้ประกอบการกิจการไฟฟ้าอื่น เหมือนเอทานอล หรือไม่ก็ไปหาใครมากองรวมกับคุณแล้วตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา ทำอย่างนี้จะโตได้เร็วกว่า…ผมต้องคุยกับบอร์ดก่อน ดูอย่างเอทานอลเรามี 2 โรง ถ้าขยาย 2 แสนลิตรก็จบแค่นี้ พอมารวมกันก็มีอะไรให้หวือหวา มีโอกาสเยอะขึ้น ธุรกิจไฟฟ้าก็ควรจะทำแบบนี้ ถ้าจะเสนอบอร์ดต้องรอให้นิ่งกว่านี้ก่อน ช่วงนี้เป็นฤดูหีบอ้อยก็จะโฟกัสเรื่องหีบอ้อยก่อน”นายชลัช กล่าว

นอกจากนี้ นายชลัช กล่าวอีกว่า บริษัทยังให้ความสนใจที่จะซื้อกิจการในธุรกิจเครื่องดื่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจจากปัจจุบันที่เป็นเพียงผู้ผลิตน้ำตาล ซึ่งการเข้าซื้อกิจการจะทำให้มีโอกาสเติบโตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีด้วย แต่การดำเนินการคงไม่เร่งรีบแต่อย่างใด

ส่วนการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ตามการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้ยกเลิกการเงินนำส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาท/กิโลกรัม เพื่อไปอุดหนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อไม่ให้ผิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) นั้น นายชลัช เห็นว่า การยกเลิกกำหนดเงินนำส่งเข้ากองทุนอ้อยฯดังกล่าว จะทำให้ชาวไร่เสียเปรียบจากสิ่งที่เคยได้จากกองทุนอ้อยฯ ขณะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ไม่ดี ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ชาวไร่จะได้รับในปีนี้เหลือแค่ราว 800 บาท/ตันอ้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าเมื่อมีการลอยตัวราคาน้ำตาลครั้งนี้ จะทำให้มีรายได้บางส่วนเข้ากองทุนอ้อยฯเพิ่ม เพื่อมาใช้คำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้ชาวไร่ได้ในระดับที่เกิน 900 บาท/ตันอ้อย โดยเงินรายได้บางส่วนที่เข้ามานั้น จะมาจากส่วนต่างราคาขายน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลที่เกินออกไปจากราคาส่งออกแล้วนำเข้ากองทุนอ้อยฯ ซี่งในช่วงปลายปีก็จะนำเงินส่วนต่างดังกล่าวมาแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ในสัดส่วน 70:30

 

Back to top button