ฝ่ายค้านชำแหละ “งบปี69” กู้ทะลุเพดาน-รายจ่ายประจำบวม หวั่นไทยเดินผิดทาง

ฝ่ายค้านวิจารณ์รัฐตั้งงบ 3.78 ล้านล้านบาท "ณัฐพงษ์" ชี้รัฐบาลจัดงบ "กู้สูงสุดรอบ 3 ทศวรรษ" หวั่นพาประเทศเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจรุนแรง จี้ถามแผนรับมือวิกฤตโลกรอบด้าน


ผู้สื่อข่าวรายงาน (28 พ.ค.68) บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นอภิปรายเปิดประเด็นอย่างดุเดือด สะท้อนความกังวลอย่างหนักต่อแนวทางการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ฝ่ายค้านมองว่า “ขาดแผนรองรับ” และ “ไม่ตอบโจทย์” การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

นายณัฐพงษ์ ยังเปิดเผยตัวเลขน่าตกใจว่า รัฐบาลเสนอกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2569 สูงถึง 3.78 ล้านล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐมีเพียง 2.92 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมหาศาลถึง 860,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ของ GDP ซึ่งเป็นตัวเลขการกู้ขาดดุลที่ “สูงสุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ” สะท้อนภาพโครงสร้างการคลังที่เปราะบางอย่างยิ่ง

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การกู้เงินเท่านั้น แต่เป็นการใช้งบประมาณที่ “เกินตัว” โดยไม่มีแผนการลงทุนหรือยุทธศาสตร์สร้างรายได้เพิ่มเติมที่ชัดเจน ขาดการบูรณาการกับเป้าหมายระยะยาวของประเทศ” นายณัฐพงษ์กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านชี้ว่า แม้งบประมาณปี 69 จะเพิ่มขึ้น แต่โครงสร้างรายจ่ายยังน่าห่วง งบประจำกลับพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มกว่า 20,000 ล้านบาท และงบชำระหนี้ที่เพิ่มอีกกว่า 11,000 ล้านบาท ทำให้เม็ดเงินที่เหลือสำหรับใช้พัฒนาโครงการใหม่ๆ มีเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของงบทั้งหมด หรือราว 1.06 ล้านล้านบาทเท่านั้น

นายณัฐพงษ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบกลางปี 2568 ที่เปลี่ยนจากนโยบายแจกเงินสดไปเป็นการอัดฉีดเงินลงทุนระยะสั้น 157,000 ล้านบาท โดยสั่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,800 แห่งทั่วประเทศ ส่งคำของบภายในเวลาแค่ 3 วัน ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าเป็นการบริหารที่ “ไร้วิสัยทัศน์” และอาจเปิดช่องให้เกิดความ “ไม่โปร่งใส” พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า “นี่คือการกระจายภาระ หรือกระจายผลประโยชน์ไปยังเครือข่ายใกล้ชิดรัฐบาล

ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก ทั้งปัญหาภูมิอากาศ เศรษฐกิจโลกผันผวน และสงครามการค้าที่รุนแรง ฝ่ายค้านเตือนว่ารัฐบาลยังคง “วนลูป” ใช้งบประมาณในรูปแบบเดิมๆ ไม่ปรับทิศทางให้สอดรับความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ภาคส่วนสำคัญอย่าง “การท่องเที่ยว” และ “การเกษตร” กำลังเผชิญแรงเสียดทานอย่างหนัก

โดยข้อมูลจาก IMF เมื่อเดือนมีนาคม คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 69 จะโต 3.2–3.3% แต่ล่าสุดหลังเหตุการณ์การเมืองในสหรัฐฯ ตัวเลขถูกปรับลดลงต่ำกว่า 3% ซึ่งอาจซ้ำเติมภาคท่องเที่ยวไทย ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ลดลง ส่วนภาคส่งออก โดยเฉพาะ SMEs กว่า 4,900 ราย ที่มีแรงงานกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งเคยรอดจากวิกฤตโควิด-19 มาได้ วันนี้อาจต้อง “ตายสนิท” เพราะต้นทุนพุ่งและการแข่งขันที่รุนแรงจากเพื่อนบ้าน จากผลกระทบมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

นายณัฐพงษ์สรุปว่า งบประมาณปี 69 ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่จะนำพาประเทศฝ่าวิกฤต แต่กลับสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐบาลที่ยังขาดทั้งวิสัยทัศน์ แผนแม่บท และกลไกบริหารที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเตือนว่าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

Back to top button