CMDF เปิดผลงานปี 67 มอบทุน 22 โครงการ ชู “Jump+” ติดอาวุธความรู้ “บจ.” โตแกร่ง

CMDF เปิดผลงานปี 67 มอบทุน 22 โครงการ ขับเคลื่อนตลาดทุนไทย พร้อมกางแผนปี เน้นส่งเสริม ศักยภาพ บุคลากรตลาดทุน ชูโครงการ Jump+ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดอาวุธองค์ความรู้ บจ. เติบโตแกร่ง


ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ CMDF กล่าวว่า CMDF มุ่งสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาระบบ นิเวศของตลาดทุนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเงินการลงทุน พัฒนา ศักยภาพบุคลากรในตลาดทุน และมีบทบาทในการสนับสนุนการผลักดันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับแนวโน้มการดำเนิน ธุรกิจการเงินการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

รวมทั้ง ยกระดับการทำวิจัยด้านตลาดทุนไทยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินการลงทุนใน รูปแบบใหม่ๆ มุ่งผลักดันให้ผลการวิจัยถูกนำไปใช้จริง โดยส่งต่อองค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินงานหรือกำหนดแนวทางเชิงปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา CMDF ได้ให้ทุนสนับสนุน แก่ 22 โครงการ อาทิ การพัฒนาด้าน ESG การพัฒนาบุคลากรตลาดทุน และการส่งเสริมให้ประชาชนมี Investment literacy เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุนการศึกษาแนวทางการจัดทำนโยบายบัญชีการออมส่วนบุคคล (TISA) เพื่อวางรากฐานเชิงโครงสร้างด้านการออมที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว สะท้อนความมุ่งมั่นของ CMDF ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยคณะกรรมการ CMDF เชื่อว่าการสนับสนุนทุนของ CMDF จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทยในหลากหลายมิติ เพื่อให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง

นายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการ CMDF กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 CMDF ได้อนุมัติโครงการรวม 153 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2,928 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ 83 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศของตลาดทุนในด้านต่างๆ และสอดคล้องกับพันธกิจของ CMDF นอกจากการศึกษาแนวทางการจัดทำนโยบายบัญชีการออมส่วนบุคคล (TISA) แล้ว ในปี 2567 สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI) ภายใต้ CMDF ยังได้สนับสนุนงานวิจัยอื่นที่หลากหลาย อาทิ

แนวทางการบริหารเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุ การศึกษาเพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อโกงในตลาดทุนและแนวทางการปกป้องนักลงทุน แนวทางการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย เป็นต้น ในด้านการพัฒนา นักวิจัย มีโครงการสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สนใจทำงานด้านตลาดทุนเพิ่มขึ้น (Researcher Pool) โดย CMDF ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบ Matching Fund ให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุนที่เป็นบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สังกัดของกระทรวง อว.

ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา CMDF ได้ส่งเสริมการพัฒนาองค์กรกว่า 3,500 องค์กร พัฒนาบุคลากรในตลาดทุนรวมกว่า 15,000 คน ส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมทั้งที่เป็น Global และ Local Certificate รวมกว่า 940 รายเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ มียอดเข้าถึงกว่า 80 ล้านครั้ง รวมถึงการเผยแพร่งานวิจัยผ่านเว็บไซต์ (MRI รวมกว่า 50 บทความ ยอดเข้าชมมากกว่า 17,300 ครั้ง เผยแพร่งานวิจัยผ่านหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 600 เล่มให้แก่ 30 หน่วยงาน สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.cmdf.or.th/grant/result-announcement/

นายจักรชัย กล่าวอีกว่า หากถามถึงสถานะการเงินของกองทุน CMDF ณ ปัจจุบัน ต้องเรียนว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้จัดสรรเงินเริ่มต้นให้กับกองทุน CMDF ตามพระราชบัญญัติ จำนวน 5,700 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งและดำเนินการของกองทุน เงินจำนวนนี้แบ่งออกเป็นหลายส่วน ได้แก่ 1.) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประจำ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน และค่าใช้จ่ายทั่วไปอื่น ๆ

2.) งบประมาณสำหรับสนับสนุนโครงการต่างๆ โดยเป็นเงินที่ใช้สำหรับผู้ที่ยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการจากกองทุน และ 3.) เงินลงทุนเริ่มต้นของกองทุน ซึ่งถือเป็นเงินตั้งต้นที่ยังไม่ได้ถูกใช้ไป โดยเงินก้อนนี้จะมีการบริหารจัดการผ่านผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ภายนอก หรือการจ้างแบบ outsource เพื่อให้นำไปลงทุนและสร้างผลตอบแทน

จากการบริหารเงินลงทุนที่ผ่านมา กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 4-5% ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการนำส่งเงินเพิ่มเติมให้กับกองทุน CMDF ตามผลประกอบการของตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละปี ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับจะไม่เท่ากันในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับผลประกอบการจริง สถานะเงินของกองทุน ณ สิ้นปี 2567 มีเงินที่ยังคงอยู่จากการบริหารจัดการเดิม ประมาณ 500 ล้านบาท และเงินที่มีสภาพคล่อง (พร้อมใช้) ประมาณ 300 กว่าล้านบาท รวมเงินทั้งหมดที่กองทุนมีในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5,800 – 5,900 ล้านบาท

ในช่วงนี้ทั่วโลกต่างก็เผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งจากนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitical Tensions ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดการเงินในหลายประเทศ

ในส่วนของเราเอง ผมขอเรียนว่า เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สำหรับตลาดหุ้นไทย แม้จะเผชิญกับความผันผวน แต่ก็ยังมีหุ้นหลายตัวที่มีศักยภาพสูง (Potential) และยังน่าสนใจในการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของ เงินปันผล (Dividend) ที่หลายบริษัทจ่ายอย่างสม่ำเสมอ และยังมีอัตราผลตอบแทนที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน ผมเชื่อว่านักข่าวสายเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงนักลงทุนหลายท่าน น่าจะทราบถึงจุดแข็งเหล่านี้ดี และยังคงสามารถมองเห็นโอกาสที่หลงเหลืออยู่ในตลาดหุ้นไทยได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ กองทุน CMDF ยังมีแผนจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ CEO ของบริษัทจดทะเบียน (บมจ.) ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีทั้งรูปแบบสัมมนา รวมถึงการจัดทำคอนเทนต์เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น คลิปวิดีโอ สัมภาษณ์ CEO และสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงนักลงทุนอย่างทั่วถึง

ในช่วงปี 2568–2569 กองทุน CMDF มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพันธกิจหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง

หนึ่งในเป้าหมายหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว คือ การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสามารถ “สร้างมูลค่า” ให้กับองค์กรของตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการผ่านโครงการที่ชื่อว่า Jump+

โดย CMDF จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งเงินทุนสนับสนุน โดยช่วยให้บริษัทต่าง ๆ มีทรัพยากรเพียงพอในการพัฒนาองค์กร ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการของตน เป้าหมายของโครงการนี้คือการ “ติดอาวุธความรู้”

สุดท้ายนี้ Capital Market Development Fund จัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 218/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนใน 4 ด้าน ได้แก่

1.Infrastructure ส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์กรและโครงสร้างพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน รวมถึง การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุน

2.Professionals ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน หรือการกำกับดูแลตลาดทุน

3.General Publicเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุนและการพัฒนาตลาดทุน ให้แก่ผู้ลงทุน ประชาชน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง และ 4. Research ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย อบรม และพัฒนาองค์ความรู้ หรืองานวิชาการ ที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน

Back to top button