วิตกสงครามการค้า IMF หั่นประมาณการ ศก.โลกเหลือ 3.7%

วิตกสงครามการค้า IMF หั่นประมาณการ ศก.โลกเหลือ 3.7%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ต.ค. 2561) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2561 และ 2562 ลงจากเดิมที่ 3.9% ลดลงเหลือ 3.7% อันเนื่องมาจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ที่มีความตึงเครียดมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกครั้งนี้เปิดเผยออกมาหลังจากมีรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรายงานที่เปิดเผยต่อสาธารณชนสองครั้งต่อปีในเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม นอกจากนี้ IMF ยังปรับลดประมาณการของปริมาณการค้าโลก โดยอัตราการไหลเวียนของผลิตภัณฑ์ลดลงจาก 4.8% เหลือ 4.2% และการบริการลดลงจาก 4.5% เหลือ 4%

ด้าน นายมอริซ อ็อบส์เฟรด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF เปิดเผยว่า ยังเหลือข้อพิพาทอีกสองข้อมียังไม่มีความแน่นอนและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ได้แก่ สัญญาเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ระหว่าง สหรัฐอเมริกา, แมกซิโก และแคนนาดา ที่ยังไม่มีการอนุมัติเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ ประกอบกับข้อตกลงของ Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีความแน่ชัด ขณะเดียวกัน ในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนได้ส่งผลกระทบ และสร้างความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากข้อพิพาททางการค้าอันยาวนานนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนกดดันตลาดเอเชียอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2561 จีนประกาศลดการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องลงไป 100 จุด นักลงทุนเกิดความกังวลและต่างเทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ดัชนีของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,696.22 จุด ร่วงลง 24.30 จุด หรือ 1.41% ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 5.96 หมื่นล้านบาท ในวันจันทร์ ที่ 8 ต.ค. 2561

ผลกระทบจากนโยบายทางการค้า และความไม่แน่นอนนั้นเริ่มเห็นชัดมากยิ่งขึ้นในเศรษฐศาสตร์มหัพภาค ซึ่งเห็นได้จากการรวบรวมของหลักฐานที่บอกกล่าวมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบริษัทต่างๆ นโยบายการค้าจะสะท้อนถึงการเมือง และการเมืองที่ยังไม่มีความแน่ชัดในหลายๆประเทศก็จะทำให้เกิดความเสียงมากขึ้นในอนาคต” นายมอริซ อ็อบส์เฟรด กล่าว

ทั้งนี้ นาย มอริซ อ็อบส์เฟรด ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่อีกด้วย โดยมองว่าการลงทุนและอัตราการผลิตจะลดลง และอาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อประเทศที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่

ขณะเดียวกัน จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 2.25% ในเดือนกันยายน ส่งผลกดดันเพิ่มขึ้นต่อตลาดเกิดใหม่ โดยนักลงทุนต่างเทขายหุ้นออกเพื่อไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า นอกจากนี้ ยังทำให้อัตราการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย โดยประเทศอาร์เจนติน่า และตุรกีนั้นจัดอยู่ในประเทศที่น่าวิตกมากที่สุด จากวิกฤติค่าเงินที่ตกลงทำสถิติออลไทม์โลว์ หรือต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้เกิดข้อกังขาต่อการดำเนินงานของรัฐบาลอีกด้วย

Back to top button