“สบาย เทคโนโลยี” ยื่นไฟลิ่งขาย “ไอพีโอ” 117 ล้านหุ้น ระดมทุนเทรด SET นำเงินขยายธุรกิจ

“สบาย เทคโนโลยี" ยื่นไฟลิ่งขาย “ไอพีโอ” 117 ล้านหุ้น ระดมทุนเทรด SET นำเงินขยายธุรกิจ


บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดเผยว่า บริษัทยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน ไม่เกิน 117,017,300 หุ้น คิดเป็น 11.64% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และมีความประสงค์ที่จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)

สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อนำไปขยายธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนวียน โดยบริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน ผ่านตู้เติมเงิน ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส”

โดยปัจจุบัน SABUY มีบริษัทย่อยทั้งหมด 3 บริษัทคือ บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (VDP) โดย SABUY ถือหุ้น 82.47% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว, บริษัท สบาย ซิสเต็มส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SSM)  โดย SABUY ถือหุ้น 100% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว และ บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด (SBM) โดย SABUY ถือหุ้น 80% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว

ธุรกิจของกลุ่มบริษัทแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ได้แก่ การให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ การจำหน่ายตู้เติมเงินอัตโนมัติทั้งในรูปแบบการชำระด้วยเงินสดและเงินผ่อน และให้บริการตู้เติมเงินอัตโนมัติในระบบแฟรนไชส์ (Franchise) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Prepaid) บริการรับชำระ เช่น การชำระบิล การเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) การฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร และอื่นๆ ผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” ณ วันที่ 31 ธ.ค.61 บริษัทมีตู้เติมเงินอัตโนมัติรวมจำนวน 47,040 ตู้ และมีศูนย์บริการอยู่ถึง 12 แห่ง โดยเป้าหมายขยายบริการตู้เติมเงินอัตโนมัติเพิ่มเติมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

2.กลุ่มธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine Business Unit) ประกอบด้วยการจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ดำเนินธุรกิจโดย VDP เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เช่น น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชาเขียว อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้ง พลัส” ณ วันที่ 28 ก.พ.62 มีจำนวนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติรวมกว่า 1,707 ตู้ ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง

3.กลุ่มธุรกิจระบบศูนย์อาหาร (Food Court System Business Unit) ดำเนินธุรกิจโดย SSM เป็นผู้ให้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหาร (ระบบบัตร Prepaid อิเล็กทรอนิกส์) รวมถึงการให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการจ้างบำรุงรักษาซ่อมแซมศูนย์อาหาร และอุปกรณ์ต่อพ่วงของระบบดังกล่าว อาทิห้างสรรพสินค้า โรงงาน และสถานศึกษา และสถานีขนส่ง เป็นต้น

4.กลุ่มธุรกิจให้บริการการชำระเงิน (Payment Service Provider / Facilitator Business Unit) ดำเนินธุรกิจโดย SBM ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นผู้ให้บริการทั้งผู้ชำระเงินและผู้รับชำระเงินด้วยเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ผ่าน e-Payment Platform

Back to top button