PPS จ่อเซ็น 2 งานใหม่ไตรมาส 4 หนุน Backlog พุ่ง ลุ้นคว้างานรฟฟ.สีม่วงใต้-ส้มตะวันออกปี 63

PPS จ่อเซ็นรับ 2 งานใหม่ไตรมาส 4 หนุน Backlog ลุ้นคว้างานรฟฟ.สีม่วงใต้-ส้มตะวันออกปีหน้า


นายพงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PPS เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/62 บริษัทได้รับงานใหม่จากกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ในการเข้าไปอัพเกรดโรงงาน ที่มีมูลค่างานหลักร้อยล้านบาท และมีระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทรับรู้รายได้เร็ว และงานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่างานมากกว่า 100 ล้านบาท โดยทั้งสองงานคาดว่าจะลงนามสัญญาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 366 ล้านบาท ณ สิ้นส.ค.62

ทั้งนี้ จากสถานการณ์งานก่อสร้างในประเทศ ทั้งงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ชะลอตัวในปีนี้ ทำให้งานที่คาดว่าจะได้รับอย่างงานเดอะมอลล์ 2 ก็ชะลอออกไป อีกทั้งด้วยปริมาณงานที่มีออกมาน้อยทำให้มีการแข่งขันราคาสูงขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงปรับกลยุทธ์หันมาขยายไปงานสาธารณูปโภค หลัก ๆ เป็นงานสนามบิน และรถไฟ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวมาก จากโครงการภาครัฐที่มีแผนงานอยู่แล้ว รวมทั้งรับงานอุตสาหกรรมโรงงาน จากเดิมมีแต่งานอาคาร นอกจากนี้ยังปรับงานไอที จากที่เขียนซอฟท์แวร์เอง ก็หันเป็นไปเป็นพันธมิตรกับ Oracle และเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟท์แวร์เกี่ยวกับงานก่อสร้างของ Oracle และเทรนนิ่ง ซึ่งจะเป็นรายได้เพิ่มเข้า โดยในปีนี้คาดว่างานสาธารณูปโภคและงานไอที จะมีสัดส่วนรายได้ 10% และจะเพิ่มเป็น 25% ในปีหน้า

สำหรับปี 63 บริษัทมีเป้าหมายที่จะได้งานใหม่จากงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ขณะที่งานสนามบินสุวรรณภูมิที่จะหมดอายุสัญญาในเดือนพ.ย.62 ต้องรอดูว่าบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะต่ออายุหรือไม่ หากไม่ได้ต่ออายุบริษัทจะรับผลขาดทุนประมาณ 8 ล้านบาท/เดือน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก และเสี่ยงต่อผลประกอบการของบริษัทจะประสบผลขาดทุนปีนี้ ขณะที่รายได้ปีนี้คาดว่าจะทำได้ระดับ 400 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 425 ล้านบาท และมาร์จิ้นในปีนี้ก็จะไม่ถึง 5% จากการแข่งขันสูง

ส่วนในปีหน้าบริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนงาน และเป้าหมายการดำเนินงาน จากเดิมตั้งเป้าหมายรายได้ที่ 450 ล้านบาท โดยการประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 14 พ.ย.นี้จะพิจารณาเรื่องแผนงานดังกล่าว รวมทั้งจะหาข้อสรุปว่าบริษัทจะเข้าลงทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินแหลมยามู จ.ภูเก็ต ในสัดส่วนการลงทุนเท่าใด หลังคณะกรรมการให้ลดสัดส่วนการลงทุนเหลือเพียงไม่เกิน 10%

“ปี 62 รายได้ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ 425 ล้านบาท คาดจะได้ 400 ล้านบาท มาร์จิ้นไม่ถึง 5% เพราะโครงการสุวรรณภูมิ ต้องรอต่อสัญญา เรายังลงทุนที่ภูเก็ตอยู่”นายพงศ์ธร กล่าว

ทั้งนี้ PPS และ PPS Oneworks ร่วมกับ The International Air Rail Organization (IARO) เตรียมจัดงาน INNOCON BANGKOK 2019 ในหัวข้อ ” The International Air Rail Transport Summit 2019″ ในวันที่ 20 พ.ย.62  ผ่านมุมมองเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทชั้นนำจากนานาชาติ รวมถึงผู้นำระดับสูงในวงการอุตสาหกรรมมากมาย พร้อมจัดแสดงสินค้านานาชาติของสมาคม IARO เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดย The International Air Rail Transport Summit เป็นงานประชุมด้านระบบโครงสร้างคมนาคมขนส่งพื้นฐานในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางและการขนส่งทางอากาศของไทยและนานาชาติ โดยในปีนี้ให้ความสำคัญกับระบบการขนส่งพื้นฐานในภูมิภาคและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทั่วโลก อีกทั้งงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในประเทศไทย รวมถึงความเข้าใจในนวัตกรรมการก่อสร้างล่าสุด

สำหรับธุรกิจการบิน การรถไฟในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และในไทย ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากหากเทียบกับในประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว ที่มีสนามบินและรถไฟอยู่ทั่วทั้งประเทศ ในปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญจะมีอยู่แต่เฉพาะในเมืองใหญ่ และคาดว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯจะมีเส้นทางรถไฟความยาวรวมกว่า 200 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าของที่มีอยู่

ขณะที่ในกรุงเทพฯมีสนามบินอยู่ 2 แห่งคือ สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง อีกโครงการที่จะเกิดขึ้นก็คือโครงการสร้างสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสนามบินที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย โดยทั้งสามสนามบินจะเชื่อมต่อกันด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง ยังไม่รวมโครงการรถไฟในเมืองใหญ่ (Metro Train) และสนามบินภูมิภาคของประเทศไทย ที่จะมีการขยายและปรับปรุงเพื่อใช้ส่งผู้โดยสารมายังสนามบินหลักสามสนามบินข้างต้น ซึ่งเมื่อมีการลงทุนเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นก็คือมูลค่าของทรัพย์สินหรือมูลค่าของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

 

 

X
Back to top button