ICHI หั่นเป้ารายได้ปี 63 เหลือโต 7% เซ่นวิกฤต “โควิด-19” แย้มธุรกิจอินโดฯปีนี้เริ่มมีกำไร

ICHI หั่นเป้ารายได้ปี 63 เหลือโต 7% เซ่นวิกฤต “โควิด-19” แย้มธุรกิจอินโดฯปีนี้เริ่มมีกำไร


นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI เปิดเผยว่า บริษัทลดเป้าหมายรายได้ปี 63 เหลือเติบโต 7% จากเดิมคาดเติบโต 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พร้อมกับปรับกลยุทธ์หันมาเน้นช่องทางการขาย Trading Trade (TT) มากขึ้น

โดยวางแผนเพิ่ม Coverage ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาเขียวขวดเล็กในช่องทาง TT ในปีนี้อีก 7% จากปีก่อนอยู่ที่ 36% ขณะที่กลุ่มสินค้าเย็นเย็นยังคงสินค้าที่เป็นผู้นำตลาดในช่องทาง TT ซึ่งมี Coverage อยู่ที่ 45% ซี่งจะยังคงรักษาระดับดังกล่าวต่อไปในปีนี้

“ไวรัสโควิด-19 ก็มีผลกระทบต่อตลาดด้วย ทำให้เศรษฐกิจชะลอ แต่ก็อาจจะเป็นในบางช่องทางที่ได้รับผลกระทบ ที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นช่องทาง MT ที่คนไม่ได้มาเดินห้างมากเหมือนเดิม แต่ช่องทาง TT ที่เป็นร้านทั่วไปและตามตลาดต่าง ๆ ก็ยังเห็นคนมาซื้อของกันปกติ บางวันก็มีคนมามาก ทำให้เราปรับกลยุทธ์มาให้สอดคล้องกับสถานการณ์”นายตัน กล่าว

นายตัน กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นการทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมียมในส่วนของชาชิซึโอกะ ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ช่วยผลักดันผลการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มสินค้าประเภทพรีเมียมเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มที่ต้องการความแตกต่าง และสามารถขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น แม้ว่าจะมียอดขายไม่มากเท่ากับกลุ่มสินค้าชาทั่วไป แต่ก็ให้มาร์จิ้นที่สูง ทำให้กำไรปีก่อนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับงบการตลาดในปี 63 ตั้งเป้าหมายไว้ระดับ 7.5% ของยอดขาย โดยจะเน้นการทำตลาดกลุ่มสินค้าพรีเมียม และการทำให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การจัดกิจกรรมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับสินค้า ชูจุดขายที่คุณภาพและทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก มากกว่าการทำการตลาดเพื่อการทำสงครามราคาเมื่อเมื่อก่อน

นอกจากนี้ บริษัทยังขยายไลน์เครื่องดื่มโอเลี้ยงรสชาติแท้ ๆ ภายใต้แบรนด์ “สภากาแฟ” ชูคอนเซ็ปท์ “ดื่มแล้ว ชื่นใจ เป็นที่หนึ่ง ได้ทุกวัน” ขนาด 280 ml. ในราคาขวดละ 10 บาท เจาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด และกลุ่มลูกค้าแรงงาน ในช่วงเริ่มต้นกระจายสินค้าผ่านสาขาแม็คโคร และร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ และเตรียมออกสินค้าใหม่ประเภทของรับประทานในปีนี้อีก 2 สินค้า ซึ่งเป็นสินค้าที่บริษัททำแบบซื้อมาขายไป (Trading) ได้แก่ นมอัดเม็ด “One Morr” ซึ่งจะเริ่มขาย 2 รสชาติในเดือนเ.ม.ย 63 และอีก 2 รสชาติ ในเดือนมิ.ย. 63 และจะมีลูกอม “Yen Yen Cool” จะเป็นกลู่มสินค้าที่เน้นตลาดส่งออก และช่องทางในประเทศผ่าน TT เป็นหลัก

ส่วนธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ในปีนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมุ่งเน้นใช้ประสิทธิภาพการผลิตของ อิชิตัน กรีน แฟคทอรี่ ซึ่งเป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรทันสมัย จำนวน 7 สายการผลิตแบบขวด และมีกำลังการผลิตสูงสุด 1,500 ล้านขวด/ปี ภายใต้มาตรฐานการผลิตในระดับโลก ให้มีกำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยในปี 63 นี้ มี 2 ลูกค้ารายใหญ่เข้ามาเพิ่มเติม

ได้แก่ แบรนด์ COCO BURI เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว ผสมชิ้นเนื้อ เจาะตลาดในประเทศไทย และเตรียมส่งออกไปยังจีน รวมทั้งแบรนด์ BING-ZU (ปิงจู่) ชาเขียวพร้อมดื่มรสชาติน้ำผึ้งมะนาว และรสชาติต้นตำรับ ที่กำลังจะเข้าไปขยายตลาดในประเทศจีน สนับสนุนอัตรากำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

ด้านธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียหลังจากที่บริษัทเข้าไปเริ่มทำการขายมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้วนั้น ปัจจุบันบริษัทได้ทราบถึงปัญหาที่ทำให้มีผลการดำเนินงานขาดทุนมาต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน เนื่องจากในช่วงแรกที่เข้าไปทำการตลาดและขายชาเขียวแข่งขันกับคู่แข่งท้องถิ่น ซึ่งมีการขายในราคาที่ถูกมาก ทำให้มีมาร์จิ้นที่ต่ำ และไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งท้องถิ่นในอินโดนีเซียได้ ส่งผลกระทบมาถึงผลการดำเนินงาน ขณะเดียวกันการพัฒนาสินค้าใหม่ร่วมกับพันธมิตร เพื่อเพิ่มสินค้านั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ศึกษาตลาดในอินโดนีเซียมากขึ้น ทำให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่มีความแตกต่าง และชอบสินค้าที่นำเข้าจากไทย ทำให้สินค้า “ICHITAN Thai Milk Tea” ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดอินโดนีเซีย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าเครื่องดื่มชาที่คล้ายกัน และยังให้มาร์จิ้นที่สูงอีกด้วย ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจในอินโดนีเซียเริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้หยุดการขายสินค้าบางกลุ่มที่ไม่สร้างยอดขายที่ดีและไม่สร้างกำไรในอินโดนีเซีย ทำให้ต้นทุนลดลง และสามารถทุ่มเทการทำตลาดในกลุ่มสินค้าที่มียอดขายดีได้อย่างเต็มที่ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจในอินโดนีเซียกลับมา ทำให้มั่นใจว่าปีนี้ธุรกิจในอินโดนีเซียจะเริ่มมีกำไรราว 10 ล้านบาท จากที่ปีก่อนขาดทุน 29.8 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/63 คาดว่าจะยังไม่เห็นผลกำไรเกิดขึ้น เนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายในการหยุดจำหน่ายสินค้าที่ไม่สร้างกำไร แต่คาดว่าหลังจากไตรมาส 1/63 เป็นต้นไป จะเห็นผลการดำเนินงานของธุรกิจในอินโดนีเซียกลับมาเป็นบวก

นอกจากนี้บริษัทยังวางแผนที่จะส่งออกสินค้าไปในประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ผ่านช่องทางจำหน่ายของพันธมิตรของบริษัทในอินโดนีเซียที่มีการขยายสาขาในต่างประเทศ โดยตั้งเป้ายอดขายของธุรกิจในอินโดนีเซียปี 63 ไว้ที่ 4.15 ล้านลัง หรือเติบโต 21% จากปีก่อนที่มียอดขาย 3.42 ล้านลัง

Back to top button