“สภาอุตฯ” เปิดชื่อ 12 อุตสาหกรรมกระทบ “โควิด-19” หนักสุด!

“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” เปิด 45 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤต “โควิด-19” หนักสุด 12 อุตสาหกรรม!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และส่งผลทบทางตรงต่อภาคการค้า ภาคการผลิตภาคการบริการการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้หยุดชะงักลง ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบทางอ้อมมายังภาคธุรกิจต่างๆให้มีการลดการจ้างงานหรือปิดกิจการ

โดยทางด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) แบ่งออกเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก , อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย รวมทั้งสิ้นจำนวน 45 อุตสาหกรรม พร้อมระบุถึงปัจจัยบวกและที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมดังกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก มีจำนวน 12 อุตสาหกรรม ได้แก่ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ , ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ , เครื่องสำอาง , เคมี , โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม , หัตถกรรมสร้างสรรค์ , โรงเลื่อย โรงอบไม้ , ไม้อัดไม้บาง และวัสดุแผ่น , อัญมณีและเครื่องประดับ , เทคโนโลยีชีวภาพ , อาหาร , สมุนไพร

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง จำนวน 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ , เครื่องปรับอากาศ , สิ่งทอ , เซรามิก , แก้วและกระจก , ยา , เหล็ก , หนังและผลิตภัณฑ์หนัง , ต่อเรือซ่อมเรือ

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมดังกล่าวหลังจากเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ได้แก่

– สามารถหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนได้

– ยังมีสต็อกของวัตถุดิบเพียงพอในระยะสั้น

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่

– การนำเข้าวัตถุดิบจากจีนติดขัด/ล่าช้า

– ถูกยกเลิก/ชะลอคำสั่งซื้อ จากคู่ค้าในจีน

– ขายสินค้าได้ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย มีจำนวน 24 อุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร , น้ำมันปาล์ม , ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ , แกรนิตและหินอ่อน , เฟอร์นิเจอร์ , เครื่องจักรกลการเกษตร , ปิโตรเคมี , ปูนซีเมนต์ , เทคโนโลยีสารสนเทศ , ผลิตภัณฑ์ยาง , เยื่อและกระดาษ , พลาสติก , น้ำตาล , ก๊าซ , การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม , เครื่องจักรกลและโลหะการ , การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ , หลังและอุปกรณ์ , หล่อโลหะ , พลังงานหมุนเวียน , อลูมิเนียม , ผู้ผลิตไฟฟ้า , รองเท้า

โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อ 24 อุตสาหกรรม มีดังนี้

– ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าของจีนหันมา

– ซื้อสินค้าไทยแทนสินค้าจีน

– ได้รับคำสั่งซื้อจากคู่ค้าในจีน

– มีคำสั่งซื้อในประเทศ/คำสั่งซื้อจากจีนเพิ่มขึ้น มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่

– ปัญหากระบวนการขนส่งสินค้าจากจีนมีความล่าช้า

– นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงส่งผลให้ยอดขายสินค้าในประเทศลดลง

– นำเข้าวัตถุดิบจากจีนไม่ได้ เนื่องจากโรงงานปิด ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ

– ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้าหรือติดต่อธุรกิจในประเทศจีนได้

อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการทั้งด้านการคลังและด้านการเงินอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่ายและเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้าง ระบุดังนี้

  1. ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ หรือซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (local content) 40% การซื้อสินค้าไทยให้มีราคาที่สูงกว่าสินค้าจากต่างประเทศ 10% จัดซื้อจัดจ้างบางโครงการสงวนไว้สำหรับ SMEs
  2. พักการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับสินเชื่อธุรกิจ SMEs , สินเชื่อบ้าน ไม่เกิน 3 ล้านบาท , สินเชื่อรถยนต์ ไม่เกิน 1 ล้านบาท
  3. มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โครงการช็อปช่วยชาติ โครงการเที่ยวช่วยชาติ (หักค้าใช้จ่ายตามจริงได้ไม่เกิน 50,000 บาท)
  4. พักการจ่ายเงินสบทบกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างและผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  5. ลดค่าไฟฟ้า 5% เป็นเวลา 6 เดือน
  6. ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจ่ายเงินชดชเยเช่นเดียวกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม
  7. นำเงินลงทุนในกองทุน LTF มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามเดิม
  8. ผู้ถูกเลิกจ้างและผู้ว่างงานได้รับคูปองเพื่อฝึกอบรมวิชาชีพใหม่ จำนวน 20,000 บาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (10 มี.ค.63) ได้มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 รวม 12 มาตรการ เพื่อดูแลทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ซึ่งหลายมาตรการสอดรับกับข้อเสนอของทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

Back to top button