SMD บวก 4% โบรกฯมองกำไรปีนี้แตะ 172 ลบ. รับยอดขายเครื่องมือแพทย์-RTK หนุน

SMD บวก 4% โบรกฯมองกำไรปีนี้แตะ 172 ลบ. รับยอดขายเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในห้อง ICU และ Semi ICU และเครื่องตรวจโควิด RTK เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์มากขึ้น แนะ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 20 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (18 ส.ค. 2564) ราคาหุ้นบริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ปิดตลาด อยู่ที่ระดับ 15.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 4.05% โดยทำจุดสูงสุดที่ 15.40 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 14.80 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 124.44 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (16 ส.ค. 2564) โดย SMD ได้รายงานกำไรไตรมาส 2/2564 ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 723% จากไตรมาสก่อนซึ่งสูงกว่าทางฝ่ายวิจัยคาดที่ 44 ล้านบาท หลักๆมาจาก (1) รายได้เติบโตใกล้เคียงที่ทางฝ่ายวิจัยคาด เพิ่มขึ้น 186% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 212% จากไตรมาสก่อน

โดยการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ส่งผลกระทบทางบวกให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มเวชบำบัดวิกฤต เพิ่มขึ้น 123% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และกลุ่มการช่วยหายใจ เพิ่มขึ้น 135% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เพื่อใช้สำหรับการขยายจำนวนเตียง ICU และ Semi-ICU ในการรองรับผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนมากขึ้น และบริษัทสามารถส่งมอบสินค้าได้ตาม Backlog (2) SG&A เพิ่มขึ้นจากเงินบริจาคค่าประชาสัมพันธ์ในการเสนอขายหุ้น IPO การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และมีค่าปรับจากการส่งมอบสินค้าล่าช้าต่อเนื่องมาจากสัญญาเดิมจำนวน 1.81 ล้านบาท ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายมีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่ารายได้ทำให้ SG&A/sales ลดลงเหลือ 16.70% (ไตรมาส 1/2564 = 30.20%, ไตรมาส 2/2563 = 23.50%) ต่ำกว่าคาดค่อนข้างมากที่ 23.50%

ขณะเดียวกันทางฝ่ายวิจัยได้ปรับกำไรสุทธิปี 2564 ขึ้นมา 27% ที่ 172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงรายได้ที่ 1.12 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยยอดขายเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในห้อง ICU และ Semi ICU และเครื่องตรวจโควิด RTK  ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยได้ปรับ SG&A/sales ลงมาที่ 23.00% (เดิม 26.80%, ครึ่งปีแรก 2564 = 21.00%) เนื่องจากช่วงโควิดระบาดทำให้มีความต้องการเครื่องมือแพทย์อย่างเร่งด่วนและจำนวนมาก ลูกค้าจึงเป็นฝ่ายเข้าหาบริษัททำให้ SG&A/sales ลดลงค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ปรับกำไรสุทธิปี 2565 ขึ้นมา 17% ที่ 191 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมองว่าความต้องการเครื่องมือแพทย์จะยังคงมีสูง อีกทั้งคาดบริษัทมีโอกาสได้ Market Share จากการขายเครื่องกระตุกหัวใจอย่างน้อย 5% ประกอบกับการขยายธุรกิจเครื่องมือแพทย์ให้เช่าและ Sleep Lab ซึ่งจะหนุนยอดขายเครื่องช่วยหายใจในการนอนหลับ APAP, BIPAP, CPAP และเครื่องให้ออกซิเจน O2Flow สำหรับผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้วแต่การอักเสบของ ปอดอาจทำให้เกิดพังผืดในระยะยาว

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยปรับราคาเป้าหมายปี 2565 ขึ้นมาที่ 20.00 บาท อิงค่า PER ปี 2565 ที่ 22.00 เท่า (avg. peer 23.0 เท่า) การเติบโตของยอดขายและกำไรของบริษัทในอนาคตจะยังโดดเด่น หนุนจากการขาย AED ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ให้เช่าและ Sleep Lab ที่จะกระตุ้นยอดขาย CPAP โดยคาด EPS จะมี CAGR (2563 – 2566) เติบโตที่ 41% ซึ่งสูงกว่า avg. peer

 

Back to top button