รายย่อย STEC-STPI จี้ “ก.ล.ต.”-“ต.ล.ท.” เร่งสางคดีบอร์ด ล้มดีลซื้อ STIT ไม่โปร่งใส

รายย่อย STEC-STPI จี้ "ก.ล.ต."-"ต.ล.ท." เร่งสางคดีบอร์ด ล้มดีลซื้อ STIT ไม่โปร่งใส หลังคดีไร้ความคืบหน้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยเครือซิโน-ไทย คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ได้ร่วมกันยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเลขาธิการก.ล.ต.และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกรอบเพื่อทวงถามความคืบหน้าผลการสอบสวนคณะกรรมการบริษัท STECกรณีไม่เข้าทำรายการซื้อกิจการบริษัทย่อย บริษัท เอส ที ไอ ที จำกัด (STIT) อันอาจส่งผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเครือซิโน-ไทย พร้อมทั้งได้ชี้มูลให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในกรณีนี้

ทั้งนี้นางน้ำทิพย์ วิชชุเกรียงไกร ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STEC ร่วมกับนายนายภานุพงศ์ คุโณปการพันธ์ ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STPI ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า ได้ยื่นหนังสือลงวันที่  14 ตุลาคม 2564 ถึงเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) เพื่อขอให้ติดตามความคืบหน้าเรื่องการร้องเรียนการกระทำโดยไม่โปร่งใสของคณะกรรมการบริษัท STEC เนื่องจากสังคมกำลังจับตาอยู่ตามที่เป็นข่าวปรากฎในสื่อชั้นนำต่าง ๆ จำนวนมาก และผู้ลงทุนร่ายย่อยจำนวนกว่า 35,000 คน ยังหวังให้หน่วยงานทั้งสองเป็นที่พึ่งพิง และให้ความยุติธรรมเพื่อมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการกระทำของคณะกรรมการ STEC

ด้านตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยเครือซิโน-ไทย ร่วมกันแถลงว่า จากการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของทั้ง STEC และ STPI ร่วมกันตรวจสอบกรณีการยกเลิกดีลเข้าซื้อกิจการดังกล่าวนั้นพบว่าขาดความโปร่งใสอย่างยิ่ง และอาจจะเป็นการสมคบคิดกันจนมีผลเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย

โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์และความเป็นอิสระของ ซี.เจ. มอร์แกน (ที่ปรึกษาทางการเงินของ STEC) ที่ได้ทำการศึกษาและชี้นำให้มีการยกเลิกดีลดังกล่าว เนื่องจาก นายชำนิ จันทร์ฉาย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการในบริษัทเครือซิโน-ไทย กับ นายศิริวัฒน์ อนันต์คูศรี กรรมการผู้จัดการ ซี.เจ. มอร์แกน ทำงานใกล้ชิดกัน ตั้งแต่ บมจ.นครไทยตริปมิล,ซี.เจ. มอร์แกน และ บมจ.แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น

นอกจากนี้ นายศิริวัฒน์ ยังเคยถูกสำนักงานก.ล.ต.ลงโทษว่าซื้อขายหุ้น STPI โดยใช้ข้อมูลภายใน ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่นายชำนิ เป็นกรรมการ STPI อยู่ ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าผลการศึกษาของ ซี.เจ. มอร์แกน น่าเชื่อถือและโปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากรายการศึกษาเข้าซื้อกิจการ STIT ที่เสนอและอนุมัติโดยผู้ถือหุ้นครั้งแรก (เมื่อเดือนพ.ย.2563) ผ่านการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์โควิด อันรุนแรงมาก ไร้ทิศทาง และประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนเลย แต่ผลศึกษาใหม่ ของซี.เจ. มอร์แกน (กันยายน 2564) ที่ทำการศึกษาในสถานการณ์ที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วเกินครึ่งประเทศ สถานการณ์กำลังลดลงอย่างที่เห็นในปัจจุบันที่จะเปิดเมือง แต่สรุปว่ามีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) เพียง 0.16% เปรียบเทียบกับที่ปรึกษาการเงินอิสระ(IFA) รายเดิมคือบริษัทคันทรีกรุ๊ป แอดไวซอรี่ เคยสรุปผลการศึกษาไว้ว่า จะทำให้ STEC เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยให้ผลตอบแทน IRR 16.5% ซึ่งแตกต่างกันได้อย่างไรถึง 100 เท่าตัว ภายในระยะเวลาสั้นขนาดนี้

ดังนั้นการอ้างการยกเลิกมติผู้ถือหุ้นโดยมีข้ออ้างเดียวคือสถานการณ์โควิดเป็นสิ่งที่น่าอัปยศมาก และจะเป็นตัวอย่างบันทึกไว้ในอนาคต ให้คนที่คิดจะทำอย่างนี้อ้างอิง ถ้าคิดจะอ้างโควิดเพื่อศึกษาทบทวนยกเลิก ด้วยสถานการณ์โควิดตอนนี้ ยิ่งเป็นตัวเสริมให้ยิ่งต้องซื้อกิจการ STIT เพราะสถานการณ์วกกลับ เป็นจะควบคุมได้สมบูรณ์แล้ว ดังที่วันที่ 1 พฤศจิกายน จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ต้องสงสัย ซึ่งตรงข้ามกับผลการศึกษาเดือนกันยายนของซีเจมอร์แกนอย่างยิ่ง พวกตนจึงอยากถาม กลต. ว่าถ้าให้สั่งจ้างทำการศึกษาอีกครั้งวันนี้ผลจะออกมาเช่นไร

ดังนั้นในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STEC และ STPI จึงขอย้ำข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานทั้งสองให้ขยายผลการตรวจสอบ และสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ STEC และผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดให้เป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งยังเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย และเปิดเผยผลการสืบสวนการดำเนินคดีต่อสาธารณชนเป็นระยะ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาสู่ตลาดทุนไทยอีกครั้ง

Back to top button