ส่อง “หุ้นได้-เสีย” ประโยชน์อาหารสัตว์พุ่งยาว 6 เดือน โบรกชี้ GFPT กระทบหนัก!

ส่อง “หุ้นได้-เสีย” ประโยชน์ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งยาว 6 เดือน โบรกชี้ GFPT กระทบหนัก! ฟาก TU-ASIAN แนะซื้อผลกระทบจำกัด จากสัดส่วนรายได้ธุรกิจอาหารสัตว์คิดเป็นเพียง 4% และ 14% ต่อรายได้รวมของบริษัท


บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(1 เม.ย.2565) ว่า หุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) ราคาอาหารสัตว์จะทรงตัวระดับสูงจากสงคราม นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกูล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวในงานสัมมนา วัตถุดิบอาหารสัตว์ จัดโดยบริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตอาหารของประเทศ ตั้งแต่ระดับราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การจัดหาวัตถุดิบทุกชนิดที่ไม่ได้หมายรวมถึงแค่อาหารสัตว์มีปัญหาอย่างมาก และวิกฤตนี้อาจลากยาวจากวันนี้ไปถึง 6 เดือนข้างหน้า

โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยพุ่งสูงกว่าตลาดโลก ปัจจุบันอยู่ที่ 12.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 21% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 21 บาท/ กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาดน้อย เพราะความต้องการใช้ข้าวโพดทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทดแทนคือข้าวสาลีเท่านั้น

ส่วนราคาถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้น 25% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน USDA คาดการณ์ผลผลิตถั่วเหลืองของโลกของรอบเก็บเกี่ยวปี 2021/22 จะลดลง 10 ล้านตัน จากการคาดณ์การครั้งก่อน อยู่ที่ 354 ล้านตัน สาเหตุหลักมาจากผลผลิตจากกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ปรับตัวลง โดยเฉพาะจากบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลกที่คาดว่าผลผลิตจะปรับตัวลง 7 ล้านตัน อยู่ที่ 127 ล้านตัน ผลจากภัยแล้ง ส่งผลให้ global stock to use ratio ของถั่วเหลืองปรับตัวลดลงอีกครั้ง

ขณะที่ราคากากถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้น 15% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกกากถั่วเหลืองรายใหญ่คือประเทศอาร์เจนติน่าประกาศขึ้นโครงสร้างภาษีการส่งออกกากถั่วเหลืองเป็น 33% จาก 31%

ส่วนราคาปุ๋ยปรับตัวขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการปลูกถั่วเหลืองของบราซิล เนื่องจากบราซิลนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียกว่า 85% สำหรับใช้ในประเทศ

โดยมีมุมมองเป็นลบต่อกลุ่ม Agri & Food Industry มากขึ้น โดยมองว่าประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มมี downside risk จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นผลจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมถึงภัยแล้งจากกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ หุ้นกลุ่มนี้ชอบ TU และ ASIAN มากกว่า GFPT, TFG, CPF จากผลกระทบที่จำกัด

ด้านบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT (ถือ/เป้า 14.50 บาท , บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG  (NR) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF  (NR) ผลกระทบโดยตรงมากสุด บริษัทที่จะได้รับจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ จากราคาตันทุนอาหารสัตว์ลึ้ยงที่ปรับเพิ่มมากกว่าราคาสัตว์เลี้ยง ราคาเนื้อสัตว์ปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ ราคาเนื้อสัตว์ได้แก่สุกร และไก่ได้เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง ก.ย. และไปทำจุดสูงสุดในช่วง ม.ค. 21 โดยเรามองว่าราคาเนื้อสัตว์ทั้ง 2 ประเภทได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยราคาไก่หน้าฟาร์มทำสูงสุดที่ 40 บาท/กก. ขณะที่ราคาสุกรหน้าฟาร์มทำจุดสูงสุดที่ 110 บาท/กก. โดยปัจจุบันทั้งสุกรและไก่ถูกกำหนดเป็นสินค้าควบคุมของรัฐบาล ซึ่งทำให้ราคาไม่เป็นไปตามกลไกลตลาด

ขณะที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU  (ซื้อ/เป้า 27.00 บาท) และ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ ASIAN (ซื้อ/เป้า 21.00 บาท) บาท) ผลกระทบจำกัด จากสัดส่วนรายได้ธุรกิจ อาหารสัตว์ที่คิดเป็นเพียง 4% และ 14% ต่อรายได้รวมของบริษัท และเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นไม่สูง จึงกระทบต่อกำไรสุทธิจำกัด และได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า

ส่วนหุ้นบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO (ถือ/เป้า 30.00 บาท) ได้รับผลบวกเล็กน้อย แม้ว่าราคาถั่วเหลือง/กากถั่วเหลืองได้ทำจุดสูงสุดใหม่ในปี 2565 ไปแล้ว และยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ เนื่องจากจะไม่ได้ประโยชน์จากราคาถั่วเหลือง/กากถั่วเหลืองที่ปรับขึ้นมากนัก เนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ margin ของบริษัทไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะ เมื่อเทียบกับตอนต้นปี 2564 ที่ gross margin อยู่ระดับ 14-16% จากราคาถั่วเหลือง/กากถั่วเหลือง ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

Back to top button