TRU แรลลี่ 2 วันพุ่ง 41% ส่งซิกผลงาน Q2 แจ่ม! ปักธงรายได้ปีนี้โต 25% ดันกำไรทั้งปีนิวไฮ

TRU แรลลี่ 2 วันพุ่ง 41% ส่งซิกผลงาน Q2/65 แจ่ม! ปักธงรายได้ปีนี้โต 25% ดันกำไรทั้งปีนิวไฮ รับออเดอร์เพิ่มขึ้น หลังโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมขยายรับจ้างผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (7 มิ.ย.2565) ราคาหุ้น บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRU ณ เวลา 10:12 น. อยู่ที่ระดับ 7.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 9.02% โดยทำจุดสูงสุดที่ 6.90 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 6.90 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 66.94 ล้านบาท ราคาหุ้นปรับตัวแรง 2 วันติด โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 5.15 บาท เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 จนถึงล่าสุดหุ้นปรับตัวขึ้นแล้ว 41%

โดยก่อนหน้านายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ TRU เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายปี 2565 มีรายได้รวมเติบโต 25% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้รวม 2,019 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจหลัก ได้แก่1. ธุรกิจรับจ้างประกอบและรับจ้างอื่น2. ธุรกิจผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้ผลิตรถยนต์ และ 3. ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ และรายได้บริการ มีการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีความต้องการผลิต ประกอบ หรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกลับมาค่อนข้างมาก ส่งผลให้ยอดคำสั่งผลิต (Order) ในทุกเซกเมนต์กลับฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาคการส่งออก และในประเทศ

ขณะเดียวกัน ภาพรวมทั้งปี 2565 ประเมินว่าจะทำกำไรสุทธิได้ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2565 บริษัทมีรายได้รวมแล้ว 680 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 73 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 ปี เนื่องจากกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงธุรกิจไปยังรายอุตสาหกรรม ทั้งจักรกลเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ และจักรกลอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุน และค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้บริษัทมองว่าในช่วงไตรมาส 2/2565 จะยังรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากไตรมาส 1/2565 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากมองว่าจะยังมียอดผลิตรถยนต์ และมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมทั้งน่าจะมีความต้องการ (Demand) ชิ้นส่วนยานยนต์ของแต่ละแบรนด์เพิ่มขึ้น หลังได้ชะลอการผลิตรถยนต์ไปในช่วงโควิด-19 ส่วนปัญหาชิปขาดแคลนน่าจะดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับภาพรวมปี 2565 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน เติบโต 7% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยแบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคันและการผลิตเพื่อขายในประเทศ 0.8 ล้านคัน แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หากยืดเยื้อต่อไปอาจทำให้ผลกระทบต่าง ๆ เข้ามาบ้าง เช่น เรื่องของต้นทุนพลังงาน

ส่วนการรับจ้างประกอบ ปัจจุบันบริษัทมีออเดอร์เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการผลิตรถยนต์ โดยที่ผ่านมาได้งานใหม่พ่นสีตัวรถแบรนด์ดังของญี่ปุ่นประมาณ 1,000-2,000 คันต่อเดือน และเชื่อว่าจะสร้างโอกาสขยายไปยังแบรนด์อื่นเพิ่มเติม นอกจากนี้อยู่ในระหว่างการรับประกอบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ประมาณ 700 คัน  และล่าสุดได้รับออเดอร์ผลิตรถหัวขุดตัก รุ่นใหม่ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นในปี 2566

ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) บริษัทมองว่ามีโอกาสสร้างการเติบโตได้ และมีโอกาสผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีจุดเด่นในเรื่องของความสามารถในการรับผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกแบบ และแม่พิมพ์ ให้แก่แบรนด์ต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันได้มีการรับจ้างประกอบรถ EV โดยเฉพาะ EV-Tuktuk, EV-minibus และอยู่ระหว่างศึกษาขยายไปสู่รถบรรทุกขนาดเล็ก เพื่อการขนส่ง รวมไปถึงงานด้านอื่น ๆ เช่น พ่นสี และประกอบ ที่สร้างมาร์จิ้นได้ค่อนข้างดีมาก

Back to top button