OR บวกสองวัน 6% เก็งกำไร Q2 เฉียด 6 พันล้าน-จับตาปันผล 0.40 บ.

OR บวกสองวัน 5% โบรกชี้ไตรมาส 2 แตะ 5.9 พันล้าน และคาดเงินปันผลระหว่างกาลจะอยู่ที่ 0.3-0.4 บาท พร้อมประเมินกำไรไตรมาส 3/65 จะยังคงแข็งแกร่ง โดยอัพราคาเป้า 29.90 บาท  


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบนกระดาน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน ล่าสุดวันนี้ (2 ส.ค. 65) โดยปิดช่วงภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 26.75 บาท บวกไป 0.25 บาท หรือขึ้นไป 0.94% ทำจุดสูงสุดที่ระดับ 26.75 บาท ทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 26.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 249.02 ล้านบาท

ขณะที่หากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นพบว่า ค่อยๆขยับขึ้นติดต่อกัน 2 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 65 ซึ่งมีการปรับตัวขึ้นแล้วเกือบ 6% สะท้อนถึงการเข้าเก็งกำไรรอบใหม่ของนักลงทุนด้วยการเก็งงบการเงินไตรมาส 2/65 คาดว่าจะออกมาในทิศทางดี

สำหรับ OR เป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกน้ำมันของไทยซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 40% ในสถานการณ์ปกติ OR กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ขณะที่คู่แข่งจะเป็นผู้ตามราคา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันสูงมาก OR สามารถลดค่าการตลาดบางส่วน โดยมีผลประโยชน์ของกำไรสต็อกน้ำมันมาชดเชย

โดย OR ถือครองสต็อกน้ำมันประมาณ 10-15 วัน ดังนั้นอัตรากำไรน้ำมัน/ลิตร โดยรวมจึงยังคงอยู่ในระดับที่สูงได้ แม้ว่าค่าการตลาดของน้ำมันขายปลีกจะค่อนข้างต่ำก็ตาม ด้วยสภาพแวดล้อมนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันรายอื่น ซึ่งมีปริมาณสต็อกน้ำมันในมือเพียง 3-5 วัน จึงต้องขึ้นราคาขายให้สูงกว่าของ OR ส่งผลให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาด โดยกลยุทธ์ด้านราคานี้ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่ออัตรากำไรน้ำมันของ OR เท่านั้น แต่ยังช่วยลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ต่อลิตร และเพิ่มยอดขายธุรกิจที่ไม่ใช้น้ำมัน (non-oil) ด้วย เนื่องจากส่วนแบ่งการตลาดต่อปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นในสถานีบริการน้ำมัน

ด้านบล.กสิกรไทย ระบุว่า OR มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันดังกล่าว โดยประมาณการกำไรสุทธิไตรมาส 2/65 ของ OR อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และ 55% จากไตรมาสก่อน แม้ว่าค่าการตลาดน้ำมันขายปลีกที่รายงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เกือบคงที่ แต่คาดว่าอัตรากำไรน้ำมัน/ลิตร ของ OR จะเพิ่มขึ้นมากถึง 0.4 บาท/ลิตร เป็น 1.54 บาท/ลิตร จากการปรับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศขึ้นจาก 30 บาท/ลิตร เป็น 35 บาท/ลิตร

ขณะเดียวกันกลยุทธ์ราคาขายที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ส่งผลให้ (1) ปริมาณการขายน้ำมันเติบโต 24% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และ 2% จากไตรมาสก่อน เป็น 6.8 พันล้านลิตร, (2) ค่าใช้จ่าย SG&A/ลิตร ลดลง 7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และ 1% จากไตรมาสก่อน เป็น 0.96 บาท/ลิตร และ (3) ปริมาณขายของ Café Amazon จะเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และ 10% จากไตรมาสก่อน เป็น 91 ล้านแก้วในไตรมาส 2/65

นอกจากนี้คาดว่า OR จะพยายามทำให้อัตรากำไร/ลิตรของน้ำมันทรงตัวในไตรมาส 3/65 โดยเพิ่มค่าการตลาดน้ำมันขายปลีกเพื่อชดเชยผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันที่อาจเกิดขึ้น จากข้อมูลของ สนพ. ค่าการตลาดน้ำมันขายปลีกจากไตรมาสก่อนถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.4 บาท/ลิตร สำหรับทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซิน ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลในต่างประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ OR อาจมีขาดทุนสต็อกน้ำมันประมาณ 0.5 บาท/ลิตร ดังนั้นจึงคาดว่าอัตรากำไรน้ำมัน/ลิตร โดยรวมจะยังคงทรงตัว

อย่างไรก็ตามคาดว่าสัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ลิตร ของ OR จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ขณะที่ปริมาณขายของ Café Amazon จะลดลงเล็กน้อยเช่นกัน เนื่องจากปริมาณการขายน้ำมัน และจำนวนผู้ใช้บริการในสถานีบริการน้ำมันที่น้อยลงในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้กำไรสุทธิช่วงครึ่งปีแรกอาจสูงถึง 9.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 78% ของประมาณการทั้งปี ส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) อาจอยู่ที่ 0.82 บาท ในช่วงครึ่งปีแรก จึงคาดว่า OR จะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.30-0.40 บาท/หุ้น ตามอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 37%-49% (การจ่ายเงินปันผลในอดีตคือ 46-51%) โดยคิดเป็นอัตราตอบแทนเงินปันผลที่ 1.2%-1.6%

ทั้งนี้เพื่อสะท้อนถึงข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการ 2 บริษัทล่าสุดอย่าง “Freshket” และ “Otteri Wash & Dry” จึงปรับราคาเป้าหมายกลางปี 66 ของ OR จาก 29.50 บาท เป็น 29.90 บาท โดยยังคงใช้วิธี EV/EBITDA ในการประเมินมูลค่าธุรกิจหลัก ทั้งน้ำมันและ non-oil และใช้วิธี PBV ที่ 3 เท่า สำหรับธุรกิจ ใหม่ที่ได้มาจากการควบรวมกิจการ ทั้งนี้ด้วยผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้นรวม 21% จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” OR โดยปัจจัยหนุนราคาหุ้นในระยะสั้น คือ กำไรไตรมาส 2/65 ที่คาดแข็งแกร่ง

Back to top button