LIT ลุยปล่อยสินเชื่อเพื่อเปิด L/C มั่นใจพอร์ตสินเชื่อสูงกว่าเป้าที่ 1,150 ลบ.

LIT เปิดใช้บริการสินเชื่อเพื่อเปิด L/C พร้อมปล่อยกู้ Project Backup Finance เพื่อชำระค่าสินค้าให้ลูกค้า โครงการซื้อมิเตอร์ไฟฟ้า งานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าเอสเอ็มอีครบวงจร-มั่นใจพอร์ตสินเชื่อปี”58 ทะลุเป้า 1,150 ล้านบาท “รายได้-กำไร”โตไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน


นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ LIT เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ที่มีมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานธุรกิจพัฒนาการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB  เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit ) หรือ L/C

โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ ลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ต้องการนำเข้าหรือสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการสั่งซื้อหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้รับสินค้าตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้ขาย และผู้ขายจะได้รับเงินค่าสินค้าถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขใน L/C ครบถ้วน

 “การเปิดตัวบริการสินเชื่อเพื่อการเปิด L/C เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ LIT ที่จะมาเติมเต็มความต้องการของกลุ่มลูกค้า SME เชื่อว่าบริการสินเชื่อเพื่อเปิด L/C เป็นบริการที่จะสร้างรายได้ให้กับ LIT และจะช่วยเสริมให้พอร์ตสินเชื่อค้ำประกันของบริษัทเติบโตขึ้น การให้บริการสินเชื่อครั้งนี้เป็นการตอกย้ำ การก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่นอกภาคไอที ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง” นายสมพล กล่าว

สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อการเปิด L/C จะได้รับสินเชื่อ Project Backup Finance หรือสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ เพื่อชำระค่าสินค้าที่เปิด L/C และหลังจากจบโครงการลูกค้าสามารถใช้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่ง (Factoring) หรือ บริการรับซื้อหนี้การค้าต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าเอสเอ็มอีได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

โดยล่าสุด มีลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อเปิด L/C ใช้บริการสินเชื่อ Project Backup Finance มูลค่าสัญญากว่า 80 ล้านบาท เป็นโครงการซื้อขายมิเตอร์ไฟฟ้า (Watt hour Meters) จำนวนกว่า 200,000 เครื่อง งานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยแบ่งการสั่งซื้อทั้งสิ้นเป็นจำนวน 6 ล็อต ซึ่งถือเป็นโปรดักท์ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ได้อย่างลงตัว หลังจากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้การประมูล จัดซื้อ จัดจ้าง ของภาครัฐมีมากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเข้าไปรับงานจากภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มั่นใจว่าพอร์ตสินเชื่อของบริษัทฯ ในปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากเข้ามารุกตลาดภาคเอกชนมากขึ้น โดยคาดว่าจะสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1,150 ล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 สามารถทำได้แล้ว 1,162 ล้านบาท  ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็จะพยายามบริหารจัดการไม่ให้เกิน 2% ตามที่ตั้งใจกำหนดไว้

Back to top button