ส.อ.ท.กังวลปัญหาน้ำท่วม กระทบทำสินค้าขาดแคลนจนราคาพุ่ง

ประธาน ส.อ.ท. ห่วงสถานการณ์ทำสินค้าขาดแคลนจนดันราคาพุ่ง ทำกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน


วันที่  3  ต.ค. 66  นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่เริ่มท่วมในหลายพื้นที่ โดยสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สิน บ้านเรือนของประชาชน โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส.อ.ท.จึงอยากให้ภาครัฐเร่งจัดทำ แผนรับมือผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และการขาดแคลนสินค้าต่างๆ เพราะจะยิ่งผลักดัน ให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งปัญหานี้จะสวนทางกับนโยบายดูแลราคาสินค้าให้ลดลงของรัฐบาล ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นในเบื้องต้นได้เตรียมปรับแผนเส้นทางขนส่งสินค้า ทั้งทางรางและทางน้ำ หากกรณีน้ำท่วมรุนแรงจะกระทบเส้นทางขนส่งทางถนน

ทั้งนี้ส.อ.ท.ได้ลงนามร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) และมูลนิธิ อุทกพัฒน์ฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ และรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ส่งผลต่อสถานการณ์น้ำของประเทศ ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ให้เกิดเสถียรภาพและมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้ในทุกภาคส่วน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ขณะนี้ส.อ.ท.ได้ส่งทีมลงสำรวจเก็บข้อมูลความต้องการใช้น้ำในแต่ละจังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2564 ทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมาก และอุตสาหกรรมที่ใช้ปริมาณน้ำน้อย โดยพบว่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าความต้องการใช้น้ำในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 10-20% จากปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูปและอาหาร ที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก จึงต้องเตรียมรองรับปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ต่อการลงทุน เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในพื้นที่อีอีซี จึงต้อง เตรียมแผนน้ำในการผลิตให้เพียงพอ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

สำหรับกรณีที่รัฐบาลประกาศลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย งวดเดือนกันยายนธันวาคม 2566 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมนั้น ส.อ.ท.อยากให้รัฐบาล รีบเร่งพิจารณา เนื่องจากบางโรงงานได้ปรับสัญญาซื้อขายสินค้าตามต้นทุนที่ลดลง เพราะต่างชาติก็ทราบข่าวการลดต้นทุนค่าไฟ จึงมีการทวงถามมายังผู้ประกอบการไทยด้วย จึงต้องทำสัญญาซื้อขายใหม่ตามต้นทุนที่ลดลง หากการพิจารณาลดค่าไฟฟ้าล่าช้าออกไปหรือไม่เป็นไปตามนโยบาย จะมีผลต่อเอกชนอย่างมากที่ต้องแบกภาระต้นทุนไว้เอง

Back to top button