
EASTW ร่วง 6% วิกฤตซ้ำ! บอร์ดธรรมาภิบาลไขก๊อก-ผู้ถือหุ้นใหญ่ “มะนิลา” ทุนติดลบ
EASTW ร่วง 6% ระส่ำบอร์ดธรรมาภิบาลลาออกเพิ่ม รวม 4 ราย หวั่นส่งผลแผนออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านค้าง ขณะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 อย่าง “มะนิลา วอเตอร์” ฐานะการเงินย่ำแย่ ส่วนทุนติดลบ 2,481 ล้านบาท ปิดโอกาสที่จะเพิ่มทุน EASTW หากแผนออกหุ้นกู้ล่ม
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (29 เม.ย.68) ราคาหุ้น บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW ณ เวลา 11:20 น. อยู่ที่ระดับ 1.73 บาท ลบ 0.11 บาท หรือ 5.98% สูงสุดที่ระดับ 1.81 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.73 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.15 ล้านบาท
สืบเนื่องมาจากวานนี้ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ กรรมการบริษัท ประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน กรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน EASTW ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อประธานคณะกรรมการบริษัท
โดยแจ้งว่าหลังจากได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ EASTW ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการชุดย่อยและคณะทำงานต่าง ๆ ในเวลาต่อมาด้วยนั้น
บัดนี้เนื่องด้วยเหตุผลบางประการ จึงมีความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทและทุกตำแหน่งในบริษัท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
ขณะที่ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 กรรมการ EASTW จำนวน 4 คน มีภารกิจอื่น จึงขอลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท ได้แก่ 1.) นายชนินทร์ แก่นหิรัญ กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริษัท 2.) นายสุรชัย ขันอาสา กรรมการอิสระ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการธรรมาภิบาลและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
3.) นายชาติชาย อุทัยพันธ์ กรรมการอิสระ ประธานคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และกรรมการตรวจสอบ 4.) นางสาวพิมพ์ภัสสร ณ นคร กรรมการอิสระ กรรมการบริหารและการลงทุน และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ขณะที่ ต่อมา 3 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการใหม่ทดแทนกรรมการที่ลาออก และแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.แต่งตั้งกรรมการใหม่ทดแทนกรรมการที่ลาออก ได้แก่ 1.) พลตำรวจตรี วีรพล เจริญศิริ เป็นกรรมการอิสระ แทนนายสุรชัย ขันอาสา 2.) นางสาวสุรัสวดี เขียมสุวรรณ เป็นกรรมการอิสระ แทนนายชาติชาย อุทัยพันธ์ และ 3.) นายสมบัติ อยู่สามารถ เป็นกรรมการ แทนนายเพ็ชร ชินบุตร
นอกจากนี้ แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ 1.) นางสาวนิตยา ดิเรกสถาพร กรรมการอิสระ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ 2.) พลตำรวจตรี วีรพล เจริญศิริ กรรมการอิสระ เป็นกรรมการตรวจสอบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นมา
ปัจจุบันรายชื่อคณะกรรมการ EASTW ณ วันที่ 28 เมษายน 2568 ประกอบด้วย 1.) นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ 2.) นายบดินทร์ อุดล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่, กรรมการ 3.) นายโรเบอร์โต โฮเซ่ อาร์ ล็อคซิน กรรมการ 4.) นายศรายุธ แก้วสินธุ์ กรรมการ 5.) นายสราวุธ เอี่ยมสงคราม กรรมการ 6.) นายสัมฤทธิ์ สำเนียง กรรมการ 7.) นายสุทัศน์ นุชปาน กรรมการ 8.) นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ 9.) น.ส.นิตยา ดิเรกสถาพร กรรมการอิสระ, ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ 10.) พล.ต.ต.วีรพล เจริญศิริ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ 11.) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ 12.) น.ส.สุรัสวดี เจียมสุวรรณ กรรมการอิสระ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะมีกรรมการบริษัท EASTW ลาออก 2 ราย ทำให้มีการเลื่อนพิจารณาออกหุ้นกู้ใหม่ และล่าสุดบอร์ดธรรมาภิบาลก็ลาออกแล้ว ดังนั้นภายในบริษัท EASTW จึงเกิดความระส่ำระสายว่าอาจมีกรรมการท่านอื่นลาออกอีก ดังนั้นจนถึงขณะนี้บอร์ด EASTW ยังไม่กล้าลงมติอนุมัติให้ออกหุ้นกู้ก้อนใหม่วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม 1,200 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 16 มิถุนายนนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าบริหาร 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ หาก EASTW ไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ได้ทันกำหนด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้เดิม 1,200 ล้านบาท ที่ครบกำหนด จะเกิดผลกระทบหลัก ๆ ดังนี้ 1)ผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) หากไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ตามกำหนด บริษัทจะถูกมองว่าผิดนัดชำระหนี้ (default) ส่งผลกระทบต่อเครดิตเรตติ้งทันที ทั้งในส่วนของบริษัทและหุ้นกู้ใหม่ที่อาจจะออกในอนาคต
2.) เครดิตเรตติ้งถูกลด (Credit Downgrade) ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมในอนาคตสูงขึ้น (ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น) เพราะถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น 3)ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง (Loss of Investor Confidence) นักลงทุนที่ถือหุ้นกู้ หรือหุ้นสามัญ อาจขาย ทำให้ราคาตลาดลดลง การระดมทุนใหม่ในอนาคตยากขึ้น
4.) อาจโดนเจ้าหนี้ฟ้องบังคับคดี (Legal Consequences) เจ้าหนี้มีสิทธิ์ดำเนินคดีเพื่อเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยทันที โดยหากมีการฟ้องร้อง อาจส่งผลถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย
5.) กระทบสภาพคล่อง (Liquidity Crunch) ไม่มีเงินพอชำระหนี้ อาจต้องเร่งขายสินทรัพย์บางส่วน หรือหาทางกู้ระยะสั้นฉุกเฉิน ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก 6.กระทบแผนลงทุนในอนาคต (Impact on Future Expansion) บริษัทอาจต้องเลื่อนหรือลดขนาดโครงการลงทุนต่าง ๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องเอาไว้
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกของ EASTW ณ วันที่ 28 เมษายน 2568 มีดังนี้ 1.) การประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 668,800,000 หุ้น สัดส่วน 40.20%
2.) MANILA WATER (THAILAND) COMPANY LIMITED จำนวน 311,443,190 หุ้น สัดส่วน 18.72% 3.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 78,000,000 หุ้น สัดส่วน 4.69%
4.) นายปริญญา เรียรวร จำนวน 55,000,000 หุ้น สัดส่วน 3.31% 5.) บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 28,145,374 หุ้น สัดส่วน 1.69% 6)นายสมชาย ลิ้มถิรคุณ จำนวน 13,400,000 หุ้น สัดส่วน 0.81%
7.) นางสุภา สุพรรณธะวีดา จำนวน 11,875,400 หุ้น สัดส่วน 0.71% 8.) นายประสงค์ ลิ้มเจริญ จำนวน 10,390,000 หุ้น สัดส่วน 0.62% 9.) นายจิระ ทยานาวาพร จำนวน 10,000,000 หุ้น สัดส่วน 0.60% 10.) นายเหรียญชัย จูฑาวิเทศกุล จำนวน 6,400,000 หุ้น สัดส่วน 0.38%
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานการณ์ทางการเงินของ MANILA WATER (THAILAND) COMPANY LIMITED ผู้ถือหุ้นอันดับสอง พบว่าส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 2,481,290,270 บาท (ติดลบ 72.98% ของทุน) ขณะที่ทุนจดทะเบียนปัจจุบันอยู่ที่ 3,400,000,000 บาท ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจทางการเงินและการประกันภัย ถือหุ้นใหญ่โดย บริษัท มะนิลา วอเตอร์เอเชีย แปซิฟิค พีทีอีแอลทีดี สัญชาติสิงคโปร์ ถือหุ้น 33,999,999 หุ้น เกือบ 100% โรเบิร์ตโต โจเซ่ ริอาลฟ์ ล็อกซิน สัญชาติฟิลลิปปินส์ ถือ 1 หุ้น
ทั้งนี้ เป็นที่น่ากังวลว่าหาก EASTW มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนในอนาคต เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง MANILA WATER (THAILAND) COMPANY LIMITED อาจไม่มีความพร้อมที่จะเพิ่มทุนตามสิทธิ์ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาทางการเงินของบริษัทเป็นไปได้ยาก