
GULF ทะยานต่อ 4% รับขายไฟพุ่ง 1.6 หมื่นเมก รวบเขื่อนปากลายเต็ม 100%
GULF วิ่งแรงต่อ 4% ลั่นสิ้นปีนี้ COD โรงไฟฟ้าในเครือทะลุ 16,000 เมกะวัตต์ ล่าสุดซื้อโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย 770 เมกะวัตต์ ครบ 100% “ยุพาพิน” ลั่นเดินหน้าซื้อรีนิวเข้าพอร์ตเพิ่มต่อเนื่อง หลังทะลุเป้าสัดส่วน 40% เฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง-ปากลาย-หลวงพระบาง รวม 3,000 MW ส่วนดาต้าเซ็นเตอร์เล็งเพิ่มอีก 100-200 เมกะวัตต์ “บล.บัวหลวง” ประเมินกัลฟ์ฯ เข้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย ครบ 100% หนุนกำไรระยะยาว-เพิ่มมูลค่าหุ้น 4 บาท จากราคาเป้าหมาย 72 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ณ เวลา 10:15 น. อยู่ที่ระดับ 47 บาท บวก 1.75 บาท หรือ 3.87% สูงสุดที่ระดับ 47 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 45.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 725.80 ล้านบาท
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ภายในสิ้นปีนี้ โรงไฟฟ้าในเครือของกัลฟ์ทั้งหมดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์รวมกันกว่า 16,000 เมกะวัตต์ หรือ MW จากทั้งหมด 25,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนจะคิดเป็นสัดส่วน 14%
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มีสัดส่วนกำไรคิดเป็น 8% ของกำไรทั้งหมดของบริษัท ขณะนี้ได้ทยอยซื้อเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันสัดส่วนกำลังผลิตเกินกว่า 40% ของกำลังผลิตทั้งหมดแล้ว
ขณะที่บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว ได้แก่ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 3,142 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดกลับสู่ประเทศไทย ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 29-35 ปี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยโครงการเขื่อนปากลาย กำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โครงการเขื่อนปากแบง กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และโครงการเขื่อนหลวงพระบาง กำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.403 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง จะเริ่มจำหน่ายไฟได้ตั้งแต่ปี 2573
ส่วนกรณีของดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยเปิดให้บริการเฟสแรก 25 เมกะวัตต์ และจะเปิดเฟสสองช่วงปี 2570 อีก 25 เมกะวัตต์ และเปิดเฟส 3 และ 4 อีกประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
เข้าถือหุ้นปากลาย 100%
ล่าสุดบริษัทได้มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย (Pak Lay) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ภายใต้บริษัท Pak Lay Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 40% และ Sinohydro (Hong Kong) Holding Limited (SHK) ถือหุ้น 60% โดยโครงการดังกล่าวได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 29 ปี เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2575 นั้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง Gulf Hydropower Holdings Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 100% ได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 60% ใน Pak Lay Power Company Limited จาก SHK คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 128 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการเข้าซื้อทั้งส่วนของทุน และเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้น ส่งผลให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งสิ้น 100%
สำหรับการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เป็นไปตามกลยุทธ์บริษัทในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
โดยโครงการ Pak Lay เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) ที่ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออก ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง สอดคล้องกับแนวทางของบริษัท ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
เพิ่มสัดส่วนรีนิวต่อเนื่อง
โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา GULF เข้าลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (GRE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% ได้เข้าลงทุนใน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท กันกุล โซลาร์ พาวเวอร์เจน จำกัด (GSPG) และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี่ 2 จำกัด (GOE2) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ถือหุ้นอยู่ 100% โดย GRE เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียนใน 2 บริษัท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 704 ล้านบาท ขณะที่ GUNKUL ถือหุ้นในสัดส่วนที่เหลืออีก 50%
สำหรับ GSPG และ GOE2 เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีโครงการภายใต้ 2 บริษัทดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 460.8 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์ม จำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 410.2 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบแบตเตอรี่ จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 50.6 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวทั้งหมดได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำหนด COD ระหว่างปี 2569-2573 ดังนั้นภายหลังจากที่ GRE เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ใน 2 บริษัทดังกล่าว ทำให้ GRE มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทฯ (Equity MW) รวมทั้งสิ้น 230.4 เมกะวัตต์
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการบริษัท GULF ได้มีมติอนุมัติให้กลุ่มบริษัทย่อยของบริษัท ดำเนินการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ภายใต้กลุ่มบริษัท GRE ที่มีกำหนด COD ระหว่างปี 2569-2570 จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 746.6 เมกะวัตต์ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 42,000 ล้านบาท
โดย 11 โครงการ ประกอบด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 244.6 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 126 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (wind farms) จำนวน 5โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 376 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา GRE ได้เข้าลงทุนในบริษัท บลู สกาย วินด์ พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (BSWPH) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยบริษัท เดอะ บลู เซอร์เคิล (ไทยแลนด์) จำกัด (TBCT) และบริษัท อินฟินิท กรีนเนอร์จี จำกัด (Infinite) ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50% โดย GRE เข้าซื้อหุ้น 50% ใน BSWPH จาก Infinite คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น ประมาณ 375,000 บาท ทั้งนี้ GRE ได้ดำเนินการโอนหุ้นแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ในปัจจุบัน GRE และ TBCT ถือหุ้นใน BSWPH ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50%
โดยปัจจุบัน BSWPH ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 5 โครงการในประเทศไทย กำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 436.5 เมกะวัตต์ และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ระหว่างปี 2570-2573 โดยจะมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา GWTE ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดที่บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC ซึ่งถือในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และซื้อหุ้นทั้งหมดที่บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ซึ่งถือในโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,100 ล้านบาท ส่งผลให้โครงการทั้งหมดดังกล่าว เป็นบริษัทย่อยของ GWTE ดังนั้นมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นดังต่อไปนี้
1) โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมภายใต้บริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 10 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 80 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิม GWTE และ ETC ถือหุ้นเท่ากันในสัดส่วน 50% เป็น GWTE ถือหุ้นในสัดส่วน 100%
2) โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิม GWTE, ETC และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) ถือหุ้นในสัดส่วน 34%, 33% และ 33% ตามลำดับ เป็น GWTE และ WTX ถือหุ้นในสัดส่วน 67% และ 33% ตามลำดับ และ
3) โรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรมภายใต้บริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด จำนวน 3 โครงการ ซึ่งเดิม GWTE และ BWG ถือหุ้นเท่ากันในสัดส่วน 50% เป็น GWTE ถือหุ้นในสัดส่วน 100%
ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้งหมด 12 โครงการดังกล่าว ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2570
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 GULF เข้าลงทุนเพิ่มเติมโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม โดยดำเนินการผ่าน GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ส่งผลให้ GWTE มีสัดส่วนการถือหุ้น 100% ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมภายใต้บริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 10 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 80 เมกะวัตต์ และถือหุ้นในสัดส่วน 100% ในโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม ภายใต้บริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด จำนวน 3 โครงการ
ขณะเดียวกันยังถือหุ้นในสัดส่วน 67% ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ ร่วมกับบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เรื่องการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม โดยดำเนินการผ่านบริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (GWTE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ส่งผลให้ GWTE มีสัดส่วนการถือหุ้น 100% ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมภายใต้บริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 10 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 80 เมกะวัตต์ และถือหุ้นในสัดส่วน 100% ในโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม ภายใต้บริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด จำนวน 3 โครงการ
ขณะเดียวกันยังถือหุ้นสัดส่วน 67% ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ ร่วมกับบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) นั้น
ทั้งนี้บริษัทขอแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทราบว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ทาง GWTE ได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 33% ใน SIP จาก WTX คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 93 ล้านบาท ส่งผลให้ GWTE มีสัดส่วนการถือหุ้นใน SIP เพิ่มจากเดิม 67% เป็น 100% โดยโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2570 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ทาง GWTE ได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 33% ใน SIP จาก WTX คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 93 ล้านบาท ส่งผลให้ GWTE มีสัดส่วนการถือหุ้นใน SIP เพิ่มจากเดิม 67% เป็น 100%
อัพไซด์กัลฟ์เพิ่ม 4 บาท
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณี GULF เข้าซื้อหุ้นที่เหลืออีก 60% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “ปากลาย” จากบริษัท Sinohydro ส่งผลให้ GULF ถือหุ้นในโครงการดังกล่าวเต็ม 100% โดยโครงการโรงไฟฟ้าปากลาย เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบ Run-of-River ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ใน สปป.ลาว โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 29 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 2575 นั้น ประเมินว่า ดีลดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกต่อประมาณการกำไรหลักของ GULF ในระยะยาวราวเพิ่มขึ้น 15–16% พร้อมคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าต่อราคาพื้นฐานของหุ้นอีกประมาณ 4 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ การรวมโครงการเข้าสู่งบการเงินแบบ consolidation จะส่งผลให้หนี้ของ GULF เพิ่มขึ้นราว 60,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิ (Net D/E) ที่อยู่ในระดับต่ำ คาดว่าจะอยู่ที่ราว 0.5 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 2/2568 ทำให้บริษัทมีความสามารถในการรองรับภาระหนี้เพิ่มเติมได้อย่างมั่นคง
โดยยังแนะนำ “ซื้อ” หุ้น GULF ราคาเป้าหมาย 72 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าการเข้าถือหุ้นโครงการปากลายจะช่วยสร้างกำไรส่วนเพิ่มระยะยาวในปี 2575 ให้กับ GULF ราว 3,500 ล้านบาท และยังเป็นปัจจัยหนุนให้เกิด Upside ต่อราคาเป้าหมาย อีกประมาณ 0.30 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองยังจะส่งผลให้ GULF สามารถปรับรูปแบบการบันทึกบัญชีจากเดิมที่รับรู้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (JV) เป็นการรวมงบการเงิน (Consolidate) เข้ามาในงบการเงินรวมของบริษัท
โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 56.50 บาท ปัจจุบันบริษัทยังมีดีลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งอาจเป็น Upside ต่อประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายในอนาคต ได้แก่
1) โครงการ GUNKUL ขนาด 230 เมกะวัตต์
2)โครงการ Blue Circle ขนาด 218 เมกะวัตต์ และ
3) โรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) รวมขนาด 50 เมกะวัตต์