ICHI-MALEE ร่วงแรง! หลังสปท.ชงขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินมาตรฐาน

ICHI-MALEE กอดคอกันร่วง หลังสปท.ชงขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ณ เวลา 10.08 น.ราคาอยู่ที่ 12.20 บาท ปรับตัวลง 0.40 บาท หรือ 3.17% มูลค่าการซื้อขาย 21.27 ล้านบาท  

ขณะเดียวกันราคาหุ้น บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE ณ เวลา 10.08 น.ราคาอยู่ที่ 38.50 บาท ปรับตัวลง 0.50 บาท หรือ 1.28% มูลค่าการซื้อขาย 1.51 ล้านบาท  

ทั้งนี้ หุ้นทั้ง 2 ตัวที่มีการปรับตัวลง คาดว่าได้รับปัจจัยลบจากประเด็น สปท. มีมติเห็นชอบขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ซึ่งนักวิเคราะห์บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนประมาณซึ่งคาดอัตราภาษีฯ ใหม่จะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 60 โดยช่วงสั้นแนะนำเลี่ยงลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ ICHI (ยอดขายในไทย 97.5%) รองลงมา MALEE (ยอดขายในไทย 71.8%)

อนึ่ง วานนี้(26 เม.ย.) มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สปท. เรื่อง“การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ ในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ”

โดยรายงานของคณะกรรมาธิการฯได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่ม อาทิ น้ำอัดลมชาเขียวกาแฟเครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนด โดยเสนอให้จัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาลคือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20%ของราคาขายปลีกและปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25%ของราคาขายปลีก เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลงเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงเบาหวาน โรคหัวใจ ที่สร้างภาระให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเครื่องดื่มในท้องตลาดเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลมากกว่า6 กรัมต่อมิลลิลิตร อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีนอกจากนี้ยังเสนอให้กระทรวงมหาดไทยควบคุมการทำการตลาดแบบเสี่ยงโชคของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพื่อควบคุมการกระตุ้นการบริโภคที่มีน้ำตาลควบคู่ไปด้วย

ขณะที่พญ.พรพันธุ์ บุญยรัตนพรรณ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการที่จำเป็นต่อภาวะที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพกล่าวว่าปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาล 100 กรัม/คน/วัน ถือว่าเกินมาตรฐานสุขภาพที่กำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 50 กรัมต่อคนต่อวัน ถือเป็นอันดับ 9 ของโลกที่บริโภคน้ำตาลสูงสุด เป็นการบริโภคมากเกินความจำเป็นทั้งนี้ปริมาณเครื่องดื่มสำเร็จรูปต่างๆที่วางจำหน่ายมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 9-19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ทั้งที่ค่าน้ำตาลเหมาะสมอยู่ที่ 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จึงควรเพิ่มภาษีในเครื่องดื่มที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคอ้วน และโรคที่เกี่ยวข้องซึ่งการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินมาตรฐานในอัตรา20%เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโรคได้ศึกษาไว้ว่า มีผลช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้ หลายประเทศที่มีการเก็บภาษีดังกล่าวเช่น เม็กซิโก ฮังการี ก็ช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้

จากนั้นสมาชิกสปท.หลายคนได้อภิปรายแสดงความเห็น อาทินายกษิต ภิรมย์ เห็นว่าควรใช้วิธีรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินมาตรฐาน แทนการขึ้นภาษีเพราะ เป็นการผลักดันภาระให้ผู้บริโภค ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ สปท. กล่าวว่า การขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ในลักษณะเช่นเดียวกับบุหรี่ สุรา เชื่อว่าคนไทยคงรับไม่ได้ และข้อมูลที่ระบุว่า ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันนั้น ขอถามว่าเป็นผลวิจัยที่มีความครอบคลุมหรือไม่ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ ไม่ได้มีผลมาจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพียงอย่างเดียวแต่มีปัจจัยอื่นมาร่วมด้วยเช่น อาหาร กรรมพันธุ์ควรมีการวิจัยให้ลงลึกไปกว่านี้ เพราะถึงอย่างไรน้ำตาลยังมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตทั้งนี้หลังจากสมาชิกสปท.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมสปท.ลงมติเห็นชอบรายงานดัวกล่าวด้วยคะแนน 153 ต่อ 2 งดออกเสียง 6โดยให้ส่งรายงานต่อครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

Back to top button