BANPU เตรียมลงทุนโซลาร์ฟาร์มในจีน 4 โครงการกำลังผลิตรวม 78.5 MW

BANPU เตรียมลงทุนโซลาร์ฟาร์มในจีน 4 โครงการกำลังผลิตรวม 78.5 MW


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือBANPU เปิดเผยว่า บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBPP ในเครือของ BANPU ทำสัญญาเพื่อครอบครองสิทธิในการซื้อหุ้นในอนาคตในสัดส่วนร้อยละ 100 ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนจำนวน 4 โครงการในมณฑลซานตง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 78.5 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นภายใต้สัญญานี้จะกระทำบนเงื่อนไขที่โครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่เครือข่ายสายส่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 59

การขยายการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในจีนครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์ของ BPP ในการเสาะหาโอกาสการลงทุนในตลาดที่มีปัจจัยเกื้อหนุนการเติบโต และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยต่อยอดจากทักษะความชำนาญจากการทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น และประสบการณ์กว่าทศวรรษในธุรกิจไฟฟ้าในจีน 

นอกจากนั้น โครงการโซลาร์ฟาร์มในมณฑลซานตงที่เพิ่มเข้ามาปีนี้ และโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง กำลังการผลิต 1,320  เมกะวัตต์ ที่จะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 60 เป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับแผนของ BANPU ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนให้เป็น 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยแบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 20% ภายในปี 68 อีกด้วย

ทั้งนี้ ซานตงเป็นมณฑลที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงเป็นอันดับ 3 ของจีน และมีจำนวนประชากรมากกว่า 90 ล้านคน  อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโจวผิงซึ่ง BPP ได้ลงทุนดำเนินการในสัดส่วน 70% มาตั้งแต่ปี 49 ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์ฟาร์มทั้ง 4 โครงการจะถูกจำหน่ายเข้าไปยังเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าของมณฑลและอยู่บนโครงสร้างรายได้ค่าไฟฟ้าและเงินอุดหนุนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนโครงการจำนวนประมาณ 604 ล้านหยวน (เทียบเท่าประมาณ 93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งจะมาจากสองส่วน คือ หนี้สินและทุน

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/59 BANPU มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) ในธุรกิจไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับไตรมาสที่แล้ว ด้านโรงไฟฟ้า BLCP รายงานผลการดำเนินงานที่ดีด้วยการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ และอัตราการจ่ายไฟฟ้าที่สูง โดยมีส่วนแบ่งกำไรจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนโรงไฟฟ้าหงสายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผลิต ซึ่งยูนิตสุดท้ายได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยรายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัทยังคงสามารถดำเนินการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/59 EBITDA จากธุรกิจถ่านหินในไตรมาสนี้คิดเป็น 78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยบริษัทฯ ตั้งเป้าลดต้นทุนเฉลี่ยสำหรับธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียให้อยู่ที่ 43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันในปี 59  จาก 49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันในปี 58  และในออสเตรเลียให้อยู่ที่ 48 เหรียญออสเตรเลีย จาก 49 เหรียญออสเตรเลียต่อตันในปี 58

ธุรกิจถ่านหินออสเตรเลียปรับตัวดีขึ้นด้วยปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากเหมืองMandalong ซึ่งกลับมาดำเนินการผลิตตามปกติหลังจากเสร็จสิ้นการย้ายเครื่องจักรในไตรมาสก่อนหน้า และเนื่องจาก Mandalong สามารถใช้เครื่องจักรดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่ จึงส่งผลให้ปริมาณขายถ่านหินสำหรับไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 3.4 ล้านตัน  ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นปรับสูงขึ้นเป็น 23% จากร้อยละ 17 ในไตรมาสก่อนหน้า

Back to top button