เก็งกำไรหุ้นเด็ด รับอานิสงส์ช้อปช่วยชาติ!

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2560 เป็นวงเงิน 15,000 บาท ระยะเวลารวม 23 วัน โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 ได้


เส้นทางนักลงทุน

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2560 เป็นวงเงิน 15,000 บาท ระยะเวลารวม 23 วัน โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 ได้

ทั้งนี้ มาตรการช้อปช่วยชาติดังกล่าว จะช่วยสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยให้กับธุรกิจค้าปลีกพร้อมกับน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ จากที่ก่อนหน้า ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะในกลุ่มฐานราก ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของประเทศ โดยสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ เช่นราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ยอดขายของสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และตุลาคม-พฤศจิกายน และครอบคลุมหลายๆ พื้นที่

ปัจจัยต่างๆ ล้วนกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย แต่เมื่อมีมาตรการช้อปช่วยชาติเข้ามาจะเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคขึ้นได้

สำหรับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการช้อปช่วยชาติ 15,000 บาท ในปี 2560 นี้จะมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน

คนที่มีฐานรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป ยังคงวางแผนใช้สิทธิใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีฐานรายได้สุทธิ 2 ล้านบาทขึ้นไปวางแผนที่จะใช้สิทธิเต็มจำนวน แต่คนที่มีฐานรายได้สุทธิไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี วางแผนที่จะใช้สิทธิลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากยังคงกังวลกำลังซื้อในอนาคต และโดยปกติก็เสียภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม

(ข้อมูลอัตราการคืนภาษีจากนโยบายช้อปช่วยชาติ 2560 ดูจากตารางประกอบ)

อย่างไรก็ตาม แรงส่งของมาตรการช้อปช่วยชาติปีนี้ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกคิดเป็นเงินใกล้เคียงกับที่ภาครัฐได้ประเมินไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกพร้อมกับผู้ที่เกี่ยวข้องควรเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว

อย่างเช่นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมช่วงระยะ 23 วันนี้ เชื่อว่า บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS และ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการในปีนี้ จากประเภทสินค้า ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 58 สามารถพลิกเป็นบวกได้ อยู่ที่ 3.1% และ 0.4% จากติดลบในช่วงไตรมาส 1-ไตรมาส 3 ปี 58 อย่างไรก็ดีในปีที่ผ่านมาอาจไม่ได้ช่วยมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงไว้ทุกข์ประเทศ

ส่วน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN น่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมเนื่องจาก 35% ของรายได้ค่าเช่าเป็นรายได้ที่เกิดจากส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอาหาร และแบรนด์ชั้นนำต่างประเทศ เช่น Zara, Uniqlo

อีกทั้งผลประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดจะเกิดกับผู้ค้าปลีกสินค้าขนาดใหญ่เช่นโทรศัพท์มือถือ โดยหุ้นที่รับอานิสงส์คงเป็น บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 นอกจากนี้ยังมีด้านกล้องถ่ายรูปเป็น บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BIG ประกอบกับดำเนินธุรกิจศูนย์จัดจำหน่ายสินค้า ประเภท “เอ๊าท์เลท” อย่าง บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN และสินค้าตกแต่งบ้าน อย่าง บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL

ขณะที่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC จะได้อานิสงส์จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมไปถึง บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT จะได้อานิสงส์ด้วย เนื่องจาก 53% และ 26% ของรายได้มาจากธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย

พร้อมกับ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ก็น่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะ 30% ของยอดขายมาจากสินค้า Lifestyle นอกจากนี้ บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC ก็น่าจะได้อานิสงส์ด้วยเนื่องจากดำเนินธุรกิจค้าปลีกเครื่องแต่งกายและไลฟ์สไตล์

สำหรับบริษัทดังกล่าวเป็นการสมมติฐานและวัดจากมาตรการปีที่ผ่านมาว่ามีการได้รับประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อมนั่นเอง!!

Back to top button