พาราสาวะถี

พิจารณา 5 ปัจจัยจากคำบอกกล่าวของ วิษณุ เครืองาม ที่ระบุว่าจะเป็นตัวแปรทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นช้าหรือเร็วแล้ว 4 ปัจจัยแรกนั้น คิดว่าไม่น่าจะใช่ประเด็นที่ต้องเป็นข้อกังวล โดยเฉพาะประเด็นแรก ความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะนี่ถือเป็นงานที่สำคัญของคนไทยทั้งชาติ จะไม่มีใครหน้าไหนกล้าทำให้เกิดความวุ่นวายหรือแม้แต่ที่จะคิดก็เชื่อว่าไม่มีใครกล้า


อรชุน

พิจารณา 5 ปัจจัยจากคำบอกกล่าวของ วิษณุ เครืองาม ที่ระบุว่าจะเป็นตัวแปรทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นช้าหรือเร็วแล้ว 4 ปัจจัยแรกนั้น คิดว่าไม่น่าจะใช่ประเด็นที่ต้องเป็นข้อกังวล โดยเฉพาะประเด็นแรก ความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะนี่ถือเป็นงานที่สำคัญของคนไทยทั้งชาติ จะไม่มีใครหน้าไหนกล้าทำให้เกิดความวุ่นวายหรือแม้แต่ที่จะคิดก็เชื่อว่าไม่มีใครกล้า

เช่นเดียวกับการที่จะได้รับพระราชทานกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.กลับลงมาเมื่อใด ตรงนี้เป็นพระบรมราชวินิจฉัย ทุกฝ่ายต้องรอการพระราชทานลงมา ประการต่อมาเรื่องการแตะมือกันระหว่างกกต.ชุดเก่าและชุดใหม่ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ อย่างที่รู้ หากกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกกต.ชุดใหม่มีปัญหา กกต.รักษาการก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

เช่นเดียวกับเรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่วิษณุบอกว่าจะต้องหลบหลีกไม่ให้ซ้ำอยู่ในเดือนเดียวกัน ถ้าหากฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้แจงกับคนไทยที่อังกฤษไปก่อนหน้า มีคำพูดที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว 3 เดือน ประเด็นนี้ก็ไม่น่าจะต้องนำมาเป็นปัจจัยกังวล

สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดอยู่ที่เรื่อง ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศมากกว่า อย่างที่วิษณุว่าอย่างน้อยถ้าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเหมือนปัจจุบันนี้อยู่ถือว่าอยู่ในระดับที่วางใจได้ แต่หากจะเกิดเหตุใดขึ้นในอนาคต แน่นอนจะกระทบต่อกำหนดเวลาการเลือกตั้ง ซึ่งจุดนี้ได้ย้ำมาตลอดว่ามันขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีอำนาจว่าต้องการให้สงบเรียบร้อยแบบใด

หากเป็นความสงบราบคาบ คือทุกฝ่ายทุกคนต้องทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจเท่านั้น ห้ามวิจารณ์รัฐบาล ห้ามตรวจสอบการทำงานหรือห้ามนักการเมือง พรรคการเมืองแสดงความเห็น ถ้าเป็นแบบนี้คงไม่มีทางที่จะได้เลือกตั้ง เพราะมันหมายความว่า ความสงบเรียบร้อยในความหมายของผู้มีอำนาจคือ การมองไม่เห็นว่ามีใครต่อต้านหรือยืนอยู่ตรงข้าม

ถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้น จะจัดการเลือกตั้งไปทำไม แม้กระทั่งเรื่องของการคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ความจริงไม่จำเป็นต้องไปรอถึงร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็สามารถผ่อนปรนให้พรรคดำเนินกิจกรรมได้ตามกรอบที่ผู้มีอำนาจกำหนด เพราะการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายพรรคการเมืองไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

ความเห็นของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าสนใจ หากสามารถปลดล็อกบางส่วน เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ จะเป็นผลดีที่จะทำให้พรรคการเมืองสามารถปรับโครงสร้าง ปฏิรูปพรรคได้เสร็จก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง และการปล่อยให้หาสมาชิกหรือตั้งสาขาในช่วงนี้ได้จะดีกว่า เพราะเป็นช่วงการเตรียมการเกี่ยวกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะได้ไม่มีผลกระทบในช่วงที่มีพระราชพิธี

มุมของอภิสิทธิ์อีกด้าน คงตรงกับทุกพรรคการเมืองและคนไทยทุกคน ที่เชื่อว่าในช่วงพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งนี้ คงไม่มีพรรคการเมืองใดอยากทำกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้น คสช.ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้เสร็จในช่วงนี้จะดีกว่า แต่ถ้ายังไม่สบายใจเรื่องความมั่นคงก็ว่ากันไปทีละเรื่อง สิ่งที่หัวหน้าพรรคเก่าแก่ไม่เข้าใจก็คือ ตรรกะที่ว่าทำไมการทำตามกฎหมายพรรคการเมือง ต้องรอให้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ประกาศใช้ก่อน เพราะคนละส่วน คนละฉบับกัน

คงต้องติดตามดูผลการประชุมคสช.ในวันนี้ จะมีการเคาะอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาหรือไม่ เท่าที่ฟัง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกกับนักข่าวได้ความทำนองว่ารายงานผลการหารือให้กับพลเอกประยุทธ์รับทราบเรียบร้อยแล้ว และไม่จำเป็นต้องบอกรายละเอียดให้นักข่าวรู้ แหม ! คนที่มีมารยาทเขาก็เข้าใจว่าบางเรื่องไม่จำเป็นต้องสอดรู้สอดเห็นและไม่จำเป็นที่จะต้องถามเพื่อให้ได้คำตอบก็ได้

เป็นปกติธรรมดาของคนที่อยู่ในอำนาจซึ่งไม่ได้ผ่านการเลือกของประชาชน ยิ่งฟังท่านผู้นำบ่นกับนักข่าวหลังเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยก็ยิ่งเข้าใจบริบทที่ตัวเองเป็น กับการตั้งคำถามกับสื่อมวลชนว่า ควรนำเสนอสิ่งที่คนพูดไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไปหรือไม่ ไปให้เกียรติทำไม นำเสนออีกทำไม เราควรให้เกียรติคนที่ทำงานให้ประเทศในตอนนี้ไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ให้เครดิตคนที่ทำผิดแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศ

คงไม่ต้องบอกว่าสิ่งที่พูดถึงนั้นคือ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปรากฏเป็นข่าวคู่ขนานในช่วงที่ท่านผู้นำเดินทางไปเยือนอังกฤษและฝรั่งเศสพอดี ความจริงแล้วหากเชื่อมั่นในเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและความนิยมชมชอบของทั้งผู้นำในต่างประเทศ คนไทยในต่างประเทศหรือคนจากต่างประเทศ ก็ไม่เห็นจะต้องแคร์หรือออกอาการหงุดหงิด และยิ่งบอกว่าอดีตนายกฯ ไม่น่าเชื่อถือไม่มีเครดิตก็ยิ่งไม่เห็นจะต้องสนใจ

ยิ่งการที่ท่านผู้นำบอกว่า ขอร้องอย่าไปให้เครดิตกับคนไม่สร้างสรรค์ โจมตีประเทศตัวเอง ไปอาศัยประเทศคนอื่นอยู่ แล้วเกิดมาเป็นคนไทยทำไมไปอยู่กันแบบคนชั้นสอง ขออาศัย ขออยู่อย่างนี้นะหรือ อย่าทำเพราะไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำ ก็เห็นแล้วว่าคนทั้งคู่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่ได้รับการยอมรับแล้วจะโมโหโกรธาไปเพื่ออะไร

มากไปกว่านั้น หากมันแย่อย่างที่ท่านว่าจริง สิ่งที่คณะผู้มีอำนาจปัจจุบันควรจะได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศคือ การส่งตัวอดีตผู้นำทั้งสองคนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับเป็นเรื่องตรงข้าม ถ้าถามว่าหากจะหงุดหงิดหัวใจ ผู้นำเผด็จการควรจะโกรธนักข่าวที่ไปให้พื้นที่ข่าวกับทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ หรือไม่พอใจต่างประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการและไปให้การรับรองหรือออกวีซ่าให้อดีตนายกฯ มากกว่า

ขณะเดียวกันพอฟังที่ท่านผู้นำบอกทุกอย่างจะดีขึ้น บ้านเมืองจะสงบขึ้น ความขัดแย้งจะลดลง เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เชียร์กันไปมาคนละข้าง โดยที่ตนไม่สามารถช่วยอะไรได้ ทั้งนี้ การที่ทุกคนอยากปรองดองจะต้องเริ่มจากจิตใจของทุกคน วันนี้ทุกคนต้องหาทางออกเพื่อพูดคุยกันให้ได้ คำถามตัวโตคือ ใครกันแน่ที่ไม่ยอมเปิดใจ ไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง อยากจะเดินบนเส้นทางสายประชาธิปไตยแต่หัวใจยังเผด็จการ คงยากที่จะให้คนปกติทั่วไปยอมรับได้

Back to top button