พาราสาวะถี

อาการหงุดหงิดเหมือนอารมณ์ค้างพรั่งพรูทันทีที่ลงจากเครื่องบินของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันก่อน อดีตทหารหญิง “หมวดเจี๊ยบ” ร้อยโทหญิงสุณิสา ทิวากรดำรง มองว่าท่านผู้นำหัวเสียเพราะการนำเสนอของนิตยสารไทม์ แต่กลับเอาความโมโหดังกล่าวมาลงที่สองอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


อรชุน

อาการหงุดหงิดเหมือนอารมณ์ค้างพรั่งพรูทันทีที่ลงจากเครื่องบินของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันก่อน อดีตทหารหญิง “หมวดเจี๊ยบ” ร้อยโทหญิงสุณิสา ทิวากรดำรง มองว่าท่านผู้นำหัวเสียเพราะการนำเสนอของนิตยสารไทม์ แต่กลับเอาความโมโหดังกล่าวมาลงที่สองอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เป็นวัฏฏะการเมืองปกติ แม้ไม่มีการระบุชื่อเสียงเรียงนามว่าพาดพิงถึงใคร แต่ปลายทางทุกคนรู้ว่าบุคคลที่ผู้นำกระแนะกระแหนนั้นหมายถึงใคร สรุปแล้วการเมืองยุคปฏิรูปกับการเมืองยุคชั่วยุคเลวที่คณะผู้มีอำนาจพากันด่าทอมาตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีอะไรแตกต่าง ยิ่งเห็นพลังดูดที่เดินสายทำกันอยู่ ยิ่งดูไม่ออกว่าการเมืองยุคเก่ากับยุคใหม่นั้นแบบไหนสามานย์กว่ากัน

อารมณ์บ่จอยของท่านผู้นำไม่ใช่เฉพาะการแสดงออกที่มีต่ออดีตนายกฯ ทั้งสองรายเท่านั้น แต่ยังตวาดไปถึงสื่อที่ชอบนำเสนอข่าวว่า รัฐบาลเผด็จการเอาแต่ช่วยคนรวย ของพรรค์นี้ถ้าไม่มีมูลแล้วนำเสนอถือว่าสื่อเหล่านั้นไร้จรรยาบรรณและสังคมคงรุมประณาม แต่ความเป็นจริงสิ่งที่สัมผัสกันได้มันบ่งบอกชัดเจน ตัวเลขจีดีพีที่ท่านผู้นำและลิ่วล้อชอบยกมาโชว์เป็นผลงานนั้น ถามว่ามันเป็นผลดีต่อภาพรวมหรือไม่

คำตอบในทางเศรษฐศาสตร์อธิบายได้ การขยายตัวดังกล่าวผลดีมันตกไปอยู่ในอุ้งมือของคนรวยแค่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น ส่วนคนจนรวมไปถึงเกษตรกรยังคงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แม้กระทั่งการที่บรรดาโฆษกทั้งหลายต่างเที่ยวโพนทะนาว่าราคาสินค้าทางการเกษตรกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่ทราบว่าไปเอาตัวเลขมาจากไหนและทำไมถึงรีบแสดงอาการตีอกชกตัวแบบนั้น

เพราะความเป็นจริงสิ่งที่คนจนและเกษตรกรเจออยู่ทุกวันนี้ ปัญหาหนี้สินไม่ต้องพูดถึง จากเดิมคำโบราณว่าหาเช้ากินค่ำ แต่พ.ศ.นี้แค่หามื้อกินมื้อหรือหาเช้ากินได้ไม่ถึงค่ำ น่าจะใกล้เคียงกับสภาพที่เป็นอยู่มากที่สุด อย่าอ้างเรื่องไทยนิยมยั่งยืนหรือบัตรคนจนต่าง ๆ ทำได้แค่ประทังหรือบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ยังไม่นับรวมเรื่องพวกพ่อค้าหน้าเลือดที่พากันไปขูดรีดกับคนจนที่ถือบัตรไปซื้อของอีก คนพวกนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องนำตัวมาประจาน

การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ไม่ได้เลือกว่าเป็นเผด็จการแล้วต้องโจมตี ทุกอย่างมันอยู่ที่การกระทำ ยิ่งในยุคนี้มีกฎหมายปิดปาก ถามว่าหากนำเสนอความเท็จแล้วสื่อทั้งหลายจะอยู่มาได้ถึงวันนี้อย่างนั้นหรือ และถ้ามองย้อนกลับไปก็จะเห็นได้ว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นถูกเล่นงานหนักกว่ารัฐบาลปฏิวัติเสียอีก ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

เมื่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นฐานันดรที่ 4 แล้วสื่อที่ดีต้องยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาเชลียร์โดยไม่ดูข้อเท็จจริง ขณะที่ฝ่ายมีอำนาจก็ไม่ใช่ถนัดแต่จะชี้นิ้วสั่งหรืออยากได้ถูกอย่างตามใจปรารถนา ถ้าทำดีแล้วโดนด่านั่นก็อีกเรื่องแต่ก็ไม่เคยเห็น สิ่งไหนดีสื่อก็ยกย่องชมเชย ส่วนเรื่องไหนไม่โปร่งใส ไร้ธรรมาภิบาล ก็ชอบแล้วมิใช่หรือที่จะถูกติติง

หากรักที่จะกลับมามีอำนาจภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ท่านผู้นำก็คงต้องใช้โอกาสนี้เรียนรู้กระบวนการคิดของผู้นำในวิถีประชาธิปไตย คือต้องใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ไม่ใช่ดักดาน ยึดความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ในช่วงรอยต่อเช่นนี้ ถ้ามีหัวใจเป็นธรรมและอยากกลับมาอย่างสง่างาม ก็ต้องเริ่มเปิดใจ อย่าปล่อยให้ความคร่ำครึครอบงำ ถ้าหลุดจากกรอบที่ถูกขีดให้เดินมาตลอดชีวิตได้ การจะหวนมาเป็นนายกฯ คนนอก คนจำนวนหนึ่งคงพอจะทำใจยอมรับกันได้

ขณะที่ฟากฝั่งที่ว่าด้วยโรดแมปเลือกตั้ง หลังจากมีข้อสรุปจากปากของ วิษณุ เครืองาม ว่ามี 5 ปัจจัยที่จะทำให้การหย่อนบัตรเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ซึ่งความจริงแล้วทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่ที่ผู้มีอำนาจและคสช.เท่านั้นว่าต้องการจะให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ก็ยังมีประเด็นที่ถูกตั้งคำถามกันต่ออันว่าด้วยการจัดเลือกตั้ง 150 วันต้องนับรวมการประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ผู้ที่ได้รับเกียรติจากมาตรา 44 ให้พ้นตำแหน่งเคยตั้งข้อสังเกตไว้ พอไปถามวิษณุก็ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน ส่วนถ้าใครจะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล จะว่าไปเรื่องนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ คนร่างรัฐธรรมนูญก็ยืนยันแล้วว่าไม่นับรวมกัน ก็คงจะเป็นการการันตีได้ในระดับหนึ่งกระมัง เพราะคนเขียนกฎหมายเขายืนยันเจตนารมณ์เป็นเช่นนั้น

ส่วนใครจะไปยื่นตีความ ก็เชื่อได้ว่าไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลง เว้นเสียแต่มีความประสงค์ต้องการจะให้เป็นอย่างอื่นนั่นก็อีกเรื่อง ไม่ใช่ไม่เชื่อถือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขนาดเคยเปิดพจนานุกรมตีความ สั่งยุบ 3 พรรคแบบสุกเอาเผากินและยกเรื่องถนนลูกรังมาประกอบการพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูง ใช้ตรรกะกันถึงขนาดนี้มันย่อมเป็นปกติธรรมดามิใช่หรือ ที่จะมีคนคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

ขณะเดียวกัน ปัญหาอันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญกับกฎหมายประกอบที่ดูเหมือนว่า แม่กับลูกเดินคนละทาง เข้าทำนองหัวกับหางไปคนละทิศ เห็นได้จากกรณีไพรมารีโหวต ที่มีชัยย้ำแล้วย้ำอีก ในชั้นการพิจารณาร่างกฎหมายของกรธ.ไม่ได้พูดถึงเรื่องไพรมารีโหวต เพราะมองว่ากลไกในการจัดตั้งพรรคและวิธีการเลือกผู้สมัครที่จะต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมคือ การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะเป็นเจ้าของพรรค

แต่เมื่อสนช.แก้ไขเพิ่มเรื่องดังกล่าวขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะทักท้วงว่าขัดรัฐธรรมนูญ กรธ.ได้แต่เพียงตั้งข้อสังเกตว่า ยังไม่ครบถ้วนและควรจะระบุให้ชัดเจน นี่ถือเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น ไม่ได้มองอย่างรอบด้านหรืออาจจะมองเพียงแค่ใช้ตุ๊กตาแบบเดิม ๆ เช่น สกัดพรรคทักษิณ โดยลืมไปว่ากฎหมายที่ออกมานั้นต้องบังคับใช้กับทุกคนทุกฝ่าย

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าจะแก้ปัญหาเรื่องไพรมารีโหวตนี้อย่างไร ยิ่งผู้มีอำนาจจะตั้งพรรคการเมืองเป็นของตัวเองก็ต้องแก้ปัญหาชีวิตให้กับพรรคพวกเป็นอันดับแรก ถ้าถึงขั้นยกเลิกมีชัยก็บอกว่าน่าเสียดาย แต่ก็คงเป็นเพียงแค่แอ็กชั่นหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายต้องตัดสินใจเด็ดขาดว่า อะไรที่จะไม่เป็นอุปสรรคให้พรรคเกิดใหม่ของคสช.ที่ดูดกันมาเยอะแล้ว ไม่เกิดอาการสะดุดขาตัวเอง ส่วนอานิสงส์จะไปตกกับพรรคการเมืองอื่นก็ต้องยอม เพราะพรรคเพื่อไทยยังไงก็คงถูกเล่นงานก่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว

Back to top button