พาราสาวะถี

ไม่รู้จะพอใจต่อสถานะของตัวเองที่จะเรียกต่อไปนี้หรือไม่ สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ระหว่างรอการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น 24 กุมภาพันธ์ 2562 เวลานี้องค์กรอิสระแห่งนี้ กลายเป็น “กระโถน” ของฝ่ายกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไปจุดประเด็นเรื่องใดไว้สุดท้ายก็จะโยนมาภาระ หน้าที่ของ กกต. เพราะง่ายและไม่มีเสียงโต้ตอบใด ๆ


อรชุน

ไม่รู้จะพอใจต่อสถานะของตัวเองที่จะเรียกต่อไปนี้หรือไม่ สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ระหว่างรอการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น 24 กุมภาพันธ์ 2562 เวลานี้องค์กรอิสระแห่งนี้ กลายเป็น “กระโถน” ของฝ่ายกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไปจุดประเด็นเรื่องใดไว้สุดท้ายก็จะโยนมาภาระ หน้าที่ของ กกต. เพราะง่ายและไม่มีเสียงโต้ตอบใด ๆ

เช่นกรณีของการห้ามองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ในช่วงการเลือกตั้ง ที่ผู้พูดคือ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ จะโดยอ้างเหตุผลใดก็ตาม แต่เมื่อถูกกระแสสังคมรุกไล่หนักเข้า ก็ให้โฆษกกระทรวงออกมาแถลงข่าว แล้วตบท้ายด้วยข้อความที่ว่า คนชื่อดอนกล่าวเสมอเมื่อได้รับคำถามจากสื่อว่า เรื่องการเลือกตั้งเป็นความรับผิดชอบของ กกต. มิใช่เรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ

จะว่าไปก็แก้ตัวลำบากเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริง เพียงแต่ว่าบทบาทขององค์กรอิสระแห่งนี้ ภายใต้อำนาจเผด็จการ คสช. ไม่ได้เดินไปโดยอิสระและไม่กล้าจะตัดสินใจใด ๆ ทั้งที่ตัวเองมีอำนาจเต็ม เหมือนเช่นกรณีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง ฟังคำตอบจาก พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมภา เลขาธิการ กกต.แล้วหงายหลัง ไม่คิดว่าจะมีความเห็นเช่นนี้หลุดออกมาจากปาก

นักข่าวถามว่าการจะเข้ามาของผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศต้องขออนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศใช่หรือไม่ เลขาธิการ กกต.อ้างว่าไม่รู้ ขอดูข้อมูลก่อน ทั้งที่ก่อนหน้าเพิ่งอธิบายเป็นวรรคเป็นเวรกับนักข่าวว่า กกต.ผ่านการจัดการเลือกตั้งมาอย่างโชกโชนและมีองค์กรระหว่างประเทศประสานความร่วมมือมาอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

แต่ทำไมเมื่อนักข่าวถามย้ำในเรื่องเดิมและเป็นงานธุรการธรรมดา คนอย่างเลขาธิการ กกต.ถึงอ้างด้วยคำพูดมักง่ายว่าไม่รู้ เมื่อเลือกที่จะแสดงท่าทีเช่นนี้ บอกกันมาตลอด มันคือจุดเสื่อมที่ทำให้สังคมเกิดข้อกังขา กลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกหยิบยกมาตีทุกครั้งเวลาที่ผู้มีอำนาจขยับในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองคู่แข่ง แต่พอไปถามคนที่จะต้องดูแลการเลือกตั้งแล้วออกอาการใบ้รับประทาน

คงไม่มีใครเห็นใจ ในเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระแต่อยากทำตัวไม่เป็นอิสระ เช่นเดียวกับก่อนการรัฐประหารที่ทำตัวเป็นคณะกรรมการไม่อยากเลือกตั้ง เหมือนกรณีบัตรเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องโยนหินถามทางเพื่อให้ตัวเองโดนด่าเสียก่อน หรือเพราะต้องการวัดกระแสสังคมจะเออออห่อหมกกับความคิดบ้องตื้นเพื่อที่จะสอพลอใครบางคนบางพวกหรือไม่

ท้ายที่สุดก็มาเคาะกันที่เป็นบัตรเลือกตั้งอันสมบูรณ์ มีทั้งหมายเลข โลโก้ และชื่อพรรค ซึ่งมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้นตั้งแต่ต้น แต่ดันมาทำตัวให้คนด่าเล่น ๆ ซึ่งก็พอจะเข้าใจ อะไรที่ทำให้ผู้มีพระคุณพอใจและช่วยทำให้ได้เปรียบก็ลองเสนอไป หากไม่มีกระแสต้านก็ลงมือได้สบาย ครั้นมีคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ไม่มีอะไรเสียหาย แค่ตีหน้ามึนทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็เท่านั้น คิดจะอยู่ใต้ร่มเงาเผด็จการมันต้องทำตัวอย่างหนาให้ได้

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลเผด็จการเขาท่องคาถายึดมั่นในกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่นั้นจะมีที่มาอย่างไรก็ตาม เหมือนกรณี 4 รัฐมนตรีที่ไม่ยอมลาออกไปเดินงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐเพียงอย่างเดียวก็อ้างปมของกฎหมาย เมื่อคนไปถามท่านผู้นำก็ออกตัวแบบนี้และเตือนเป็นพิธีว่าให้ระมัดระวังในการปฏิบัติตัว พร้อมย้อนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้ระวังการทำผิดกฎหมายด้วยเหมือนกัน

คงไม่ต้องมานั่งเถียงกันอีกกระมังระหว่างข้อกฎหมายกับมารยาททางการเมืองและความเหมาะสม เพราะเหล่าคนดีหรือผู้ดีทั้งหลายต่างรู้กันเป็นอย่างดีว่าเป็นอย่างไร เว้นเสียแต่จะจงใจไม่มีมารยาทเนื่องจากจะทำให้เสียเปรียบทางการเมือง เรื่องแบบนี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก คิดเสียว่าการเมืองเป็นเรื่องของ “ด้านได้อายอด” และไม่ต้องไปโพนทะนาบอกใครต่อใครอีกว่า พวกเราเป็นกรรมการเข้ามาเพื่อแก้วิกฤติและทำความสงบสุขให้บ้านเมือง

รวมไปถึงการอ้างความขัดแย้ง มาถึงนาทีนี้หากมีใจเป็นกลางอย่างแท้จริง ลองสแกนไปดูข่าวสารที่เกิดขึ้น ใคร พวกไหนที่มีการพาดพิงถึงนักการเมืองต่างฝ่าย ใครที่พยายามจะหาเหตุให้ขัดแย้ง และชอบอ้างความขัดแย้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง วันนี้การกลายร่างไปเป็นผู้เล่น คนก็รู้เช่นเห็นชาติกันแล้วว่า การเดินเกมการเมืองก่อนการเลือกตั้งนั้นจะเป็นอย่างไร

จะมาอ้างว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลคงเป็นการปฏิเสธที่มักง่ายเกินไป สิ่งสำคัญในเมื่อยอมรับกันแล้วว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัว ประเด็นการกระทบกระทั่งหรือการให้ข่าว การปราศรัยพาดพิงถือเป็นวิถีปกติทางการเมือง หาใช่เรื่องที่จะเป็นความขัดแย้งกันไม่ หากไม่แยกแยะและตีขลุมกันไปว่า ใครที่พูดไม่ได้ดั่งใจหรือทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียหายคือตัวอันตราย ถ้าคิดเช่นนั้นก็อย่าไปป่าวประกาศว่าตัวเองเป็นนักการเมือง

คุณสมบัติของนักการเมืองที่ดีคือใจกว้าง และสามารถตอบโต้ฝ่ายที่พาดพิงด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ทำตัวเป็นพวกปากว่าตาขยิบ อย่าดูถูกประชาชนคิดว่าสิ่งที่พวกตัวเองพูดออกมานั้นเป็นกลาง ไม่สร้างความขัดแย้งใด ๆ ทั้งที่เนื้อหานั้นเด่นชัดว่าเป็นการนำพาไปสู่ความขัดแย้งที่กำลังพล่ามอยู่นั่นเอง คนพวกนี้อาจคิดว่าตัวเองใสสะอาดแล้วเมื่อเลือกไปยืนอยู่ข้างฝ่ายที่กุมอำนาจ โดยที่แท้จริงเป็นเพียงแค่นักการเมืองน้ำเน่าที่ไปอยู่ใต้อุ้งเท้าเผด็จการให้คนเขาดูแคลนก็เท่านั้น

ฟังความเห็นของ สุขุม นวลสกุล ล่าสุดเกี่ยวกับเกมการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งน่าสนใจไม่น้อย จะมีการจับมือกัน 2 ขยัก รอบแรกคือเลือกนายกฯ รอบสองคือตั้งรัฐบาล โดยมีแกนหลักอย่างพลังประชารัฐแน่ ๆ ที่ต้องขีดเส้นใต้จากการฟันธงของอาจารย์สุขุมก็คือ พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเข้าร่วมกับพรรคเผด็จการเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน เพราะพรรคนี้มีข้อมูลใหม่มาเรื่อย ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเปลี่ยนจุดยืน มันถูกต้องตรงเผงกับใครหลายคน อยู่ที่ว่าเราจะได้ยินวาทกรรมอำพรางอย่างไรเท่านั้นเอง

Back to top button