พาราสาวะถี

หากคำว่า “ศักดิ์ศรี” ของประเทศที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศยกมาอ้างเพื่อไม่ให้มีการเชิญหรืออนุญาตองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งภายใต้บรรยากาศของอำนาจเผด็จการปกคลุมไม่มีน้ำหนักเพียงพอ สิ่งเดียวที่หากอดีตนักการทูตรายนี้ยอมรับคนจะเชื่อในทันทีคือ “อาย” ที่เขาจะเข้ามาเห็นพฤติกรรมที่มันไม่สอดรับกับการเลือกตั้งใช่หรือไม่


อรชุน

หากคำว่า “ศักดิ์ศรี” ของประเทศที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศยกมาอ้างเพื่อไม่ให้มีการเชิญหรืออนุญาตองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งภายใต้บรรยากาศของอำนาจเผด็จการปกคลุมไม่มีน้ำหนักเพียงพอ สิ่งเดียวที่หากอดีตนักการทูตรายนี้ยอมรับคนจะเชื่อในทันทีคือ “อาย” ที่เขาจะเข้ามาเห็นพฤติกรรมที่มันไม่สอดรับกับการเลือกตั้งใช่หรือไม่

ใครจะอยากให้องค์กรระหว่างประเทศที่คนทั่วทั้งโลกให้ความเชื่อถือ มารับรู้และเห็นการที่มีตำรวจและทหารในเครื่องแบบไม่นับพวกนอกเครื่องแบบ ตามประกบผู้สมัคร ส.ส.เวลาไปหาเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีต ส.ส. และแกนนำของพรรคคู่แข่งกับพรรคใต้ร่มเงาเผด็จการ นี่คือสาเหตุหลักปัจจัยใหญ่ที่คนอย่างรัฐมนตรีต่างประเทศรู้ดีแต่พูดไปแล้วมันทำให้เสียผู้เสียคน

ใครจะเชื่ออดีตนักการทูตที่คงจะมีความรู้และเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างดี จะออกอาการหลับหูหลับตาได้ถึงเพียงนี้ แต่จะไม่แปลกใจเลย หากเข้าใจถึงธาตุแท้ของคำว่าผู้ดี-คนดี ที่จะต้องอุ้มสมเผด็จการที่ทำให้ตัวเองมีวันนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น อคติที่อยู่ในใจต่อความเกลียดชังที่มีต่อพรรค ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเครือข่ายของระบอบทักษิณ จึงทำให้คนเหล่านี้คิดและทำอะไรโดยไร้เหตุผลแต่พยายามจะยกแม่น้ำทั้งห้ามาเป็นเหตุผลอธิบายเพื่อให้สังคมยอมรับ

แต่น่าจะเชื่อได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่แสดงออกของรัฐมนตรีต่างประเทศจะเป็นเพียงการได้ทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะเมื่อถึงเวลาน่าจะยอมใส่เกียร์ถอย หากมองไปถึงการยอมรับกระบวนการหลังการเลือกตั้ง ถ้าอยากให้ผู้นำเผด็จการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกกระทอก ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และเสรี

ที่น่าสนใจต่อการวิเคราะห์ท่าทีของเผด็จการ คสช. ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา คงเป็นมุมคิดของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ที่บอกว่า ตั้งแต่ยึดอำนาจมา คสช.ทำอยู่ 3 แบบเท่านั้น ถ้าเรื่องใดคนไม่เห็นด้วยก็จะเลิก เรื่องอะไรที่ตึง คสช.ก็จะถอย เรื่องอะไรที่ไม่สบายหูประชาชน หัวหน้า คสช.ก็จะออกมาขอโทษทุกครั้งคราวไป

แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะคล้อยตามตุ๊ดตู่คงเป็นประเด็นที่ว่า คำว่าได้เปรียบกับเอาเปรียบในการเลือกตั้งเชื่อว่า คสช.รู้ว่าคนไม่พอใจ ท้ายที่สุดจำปากตนเอาไว้ พลเอกประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.อย่างแน่นอน อีกไม่กี่วันถัดจากนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้ามีเลือกตั้งและหัวหน้า คสช.มีความประสงค์จะเป็นนายกฯ ต่อไป

ตรรกะง่าย ๆ ที่คนเห็นแย้งจากประธาน นปช. ก็คือ ใครจะยอมปล่อยวางอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่มีอยู่ในมือไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากปล่อยให้ขาลอยระหว่างรอผลการเลือกตั้งและเลือกผู้นำประเทศหลังการหย่อนบัตร ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะใช้เครื่องมือใดมาจัดการ และแนวโน้มหากผู้นำเผด็จการทำตัวเองขาลอย ย่อมจะต้องเผชิญภาวะกดดันอย่างหนักหน่วงแน่นอน

เว้นเสียแต่ว่าตุ๊ดตู่จะมีข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้มั่นใจถึงขนาดนั้น แต่หากจะให้เดาแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก การพูดเช่นนี้ก็เพื่อปลุกใจทีมงานของพรรคที่ตัวเองเป็นกองเชียร์ให้มีความฮึกเหิม และกระตุ้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของแนวร่วมเสื้อแดง ที่นับวันจะเหี่ยวเฉาลงทุกที โดยเฉพาะเมื่อมาเจอกับกลวิธีแยกกันเดินของคนแดนไกล ที่มาถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าพรรคไหนเป็นของจริง พรรคใดเป็นพวกแอบอ้าง

เมื่อวานทิ้งท้ายไว้ว่าด้วยความเห็นของ สุขุม นวลสกุล ต่อการเดินเกมหลังการเลือกตั้ง ที่ระบุว่า จะมีการจับมือกัน 2 ขยัก รอบแรกคือเลือกนายกฯ และรอบสองคือตั้งรัฐบาล ความน่าสนใจอยู่ที่แกนหลักในการรวบรวมเสียงเพื่อทำการทั้งสองประการนั้นหนีไม่พ้น พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่ชนะการเลือกตั้งแน่ แต่จะมีจำนวนเสียงที่มากพอสำหรับการต่อรองกับพรรคการเมืองบางส่วนเพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการเบื้องต้นคือ 126 เสียง

จะได้นำไปรวมกับ ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง เพื่อยกมือโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ก่อน จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการหาเสียงสร้างความมั่นคงในการตั้งรัฐบาล โดยต้องมี ส.ส.อยู่ในมือไม่น้อยกว่า 250 ที่นั่ง  และในจังหวะนั้นก็จะเป็นโอกาสในการแสดงท่าทีแห่งความพลิ้วไหวของพรรคการเมืองที่ชื่อว่าประชาธิปัตย์

ถ้าย้อนกลับไปฟังคำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ย้ำหลายครั้งหลายหนต่อเงื่อนไขในการรวมกับพรรคหนึ่งพรรคใดหรือหลายพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลคือ พรรคนั้นจะต้องมีนโยบายสอคล้องต้องกันหรือปรับจูนเข้าหากันได้ พอได้เห็นนโยบายแจกเงินแสนเด็กแรกคลอด โครงการเรียนฟรีแล้ว มันก็ไม่ได้ไกลห่างจากประชารัฐที่รัฐบาลเผด็จการทำอยู่ในเวลานี้

ที่สำคัญคือ ทั้งคู่ไม่ชอบและโจมตีคำว่าประชานิยมมาโดยตลอด แสดงว่าเคมีเข้ากันได้ ประการต่อมาที่หัวหน้าพรรคเก่าแก่ย้ำเหมือนกันคือ หลังเลือกตั้งต้องให้สิทธิ์พรรคที่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงข้างมากได้ในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้พูดถึงมารยาททางการเมืองเหมือนในอดีตที่ว่าต้องให้พรรคชนะเลือกตั้งเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล นี่ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ตัวเองไปครึ่งค่อนตัวแล้ว

ดังนั้น แนวโน้มการจับมือระหว่างพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์จึงเป็นไปได้มากกว่าคำว่าไม่มีทาง ยิ่งใครได้เห็นคลิปแสดงความยิ่งใหญ่ของ วันชัย สอนศิริ ที่อ้างว่าเป็นคนผลักดันให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ พร้อมประกาศกร้าวว่านี่คือแนวทางที่ คสช.จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ชัดเจนโดยที่ไม่มีใครตัดต่อ จะบอกว่าสอพลอหรือปลุกเร้าพวกเดียวกันเอง แต่มันก็เป็นหลักฐานยืนยันแนวคิดสืบทอดอำนาจได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะมีใครปฏิเสธอย่างไรคงฟังได้ยาก และจากสิ่งที่เห็นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างพวกเผด็จการที่ได้อำนาจมาโดยไม่ยึดโยงกับประชาชนกับฝ่ายที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี เพราะฝ่ายประชาธิปไตยจะตอกย้ำเสมอถึงความเดือดร้อนของประชาชนและจะต้องช่วยกันหาทางแก้ไขไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม แต่พวกเผด็จการจะชอบอวดอ้างสรรพคุณและทวงบุญคุณอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองและทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งที่ใช้อำนาจกดหัวประชาชน

Back to top button