แบงก์ดี๊ด๊า!รับ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมนัดสุดท้ายของปี 2561 มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% มาที่ 1.75% ซึ่งมีผลทันที....เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต


รายงานพิเศษ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมนัดสุดท้ายของปี 2561 มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% มาที่ 1.75% ซึ่งมีผลทันที….เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต

พร้อมสืบเนื่องจากทางคณะกรรมการฯ เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่าความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาลดน้อยลง และเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

ทั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ 1.75% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และความยั่งยืนของแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไป ได้ดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดไปบ้างแล้ว

ดังนั้นหลังจากนี้เมื่อดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับ อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็จะมีโอกาสปรับดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก เงินกู้ หรือแม้แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรเป็นไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายด้วยก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามต้องรอดูท่าทีของกลุ่มแบงก์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง.เมื่อใด โดยประเมินว่าหากแบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็อาจจะปรับขึ้นในบางผลิตภัณฑ์ เช่น เงินฝากบางประเภท หรือเงินกู้บางประเภท เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตได้ดีมากนัก หากขึ้นดอกเบี้ยทุกประเภทอาจส่งผลกระทบต่อผู้ขอสินเชื่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก (SME) และนำไปสู่หนี้เสีย (NPL) ได้ในอนาคต

สรุปได้ว่าภาพโดยรวมหุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น คือกลุ่มแบงก์ เนื่องจากโครงสร้างสินเชื่อกว่า 70% เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงเป็นบวกต่อรายได้ ดอกเบี้ย หนุนส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้ดีขึ้น แถมช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงด้วย

ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ทำให้ส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

ผลเชิงบวกดังกล่าวส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 เข้ามาในหุ้น อาทิ KBANK, SCB, BBL, KTB, TMB, TCAP และ TISCO เป็นต้น

สำหรับราคาหุ้นของหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ปรับตัวขึ้น มีดังนี้

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับ 188.50 บาท บวกไป 3.50 บาท หรือขึ้นไป 1.89% มูลค่าการซื้อขาย 2,180.84 ล้านบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับ 138.50 บาท บวกไป 2 บาท หรือขึ้นไป 1.47% มูลค่าการซื้อขาย 732.48 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับ 208 บาท บวกไป 3 บาท หรือขึ้นไป 1.46% มูลค่าการซื้อขาย 1,105.77 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับ 20.20 บาท บวกไป 0.20 บาท หรือขึ้นไป 1% มูลค่าการซื้อขาย 630.18 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับ 2.32 บาท บวกไป 0.02 บาท หรือขึ้นไป 0.87% มูลค่าการซื้อขาย 476.42 ล้านบาท

บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับ 54.50 บาท บวกไป 2 บาท หรือขึ้นไป 3.81% มูลค่าการซื้อขาย 616.20 ล้านบาท

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับ 80.50 บาท บวกไป 1.50 บาท หรือขึ้นไป 1.90% มูลค่าการซื้อขาย 236.40 ล้านบาท

ผลจากแรงซื้อกลุ่มแบงก์ทำให้หนุนบรรยากาศลงทุนโดยรวมเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 กลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับช่วยให้ดัชนีกลับมายืนเหนือ 1,600 จุดอีกครั้ง

เนื่องจากดัชนีปิดที่ 1,601.12 จุด บวกไป 17.93 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 45,167.91 ล้านบาท แม้ว่ากลุ่มพลังงานยังคงกดดันตลาดฯ ก็ตาม

ทั้งนี้กลุ่มแบงก์จะยังเป็นตัวช่วยประคองตลาดฯ ต่อไปได้หรือไม่ ???

ขณะเดียวกันเมื่อนำหุ้นแบงก์ดังกล่าวมาพิจารณากับราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ให้ไว้ก่อนหน้า พบว่า ราคาหุ้นยังมีอัพไซด์ให้นักลงทุนได้เข้าไปไล่ล่าราคาอีกเยอะ เช่น KBANK บล.เคจีไอ ให้ราคาเป้าหมาย 215 บาท จากราคาล่าสุดอยู่ที่ 188.50 บาท ทั้งนี้จะมีอัพไซด์ 14.06%, SCB  บล.ทิสโก้ ให้ราคาเป้าหมาย 158 บาท จากราคาล่าสุดอยู่ที่ 138.50 บาท ทั้งนี้จะมีอัพไซด์ 14.08%, BBL บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาเป้าหมาย 245 บาท จากราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 208 บาท ทั้งนี้จะมีอัพไซด์ 17.79%,

KTB บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาเป้าหมาย 23 บาท จากราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 20.20 บาท ทั้งนี้จะมีอัพไซด์ 13.86%, TMB บล.เคที ซีมิโก้ ให้ราคาเป้าหมาย 2.50 บาท จากราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 2.32 บาท ทั้งนี้จะมีอัพไซด์ 7.76%, TCAP บล.ทรีนีตี้ ให้ราคาเป้าหมาย 67 บาท จากราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 54.50 บาท ทั้งนี้จะมีอัพไซด์ 22.94% และ TISCO บล.ฟิลลิป ให้ราคาเป้าหมาย 97 บาท จากราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 80.50 บาท ทั้งนี้จะมีอัพไซด์ 20.50%

ทั้งนี้ทั้งนั้นราคาหุ้นแต่ละตัวยังมีอัพไซด์เหลือเพียบ!!!

Back to top button