พาราสาวะถี

รอลุ้นกันอีกครั้งหลังการประชุมกกต.วันนี้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นวันที่เท่าไหร่ แต่คงไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้แน่นอน เพราะจับสัญญาณจาก วิษณุ เครืองาม ที่เดินทางไปหารือกับกกต.วันวาน เพื่อชี้แจงถึงข้อมูลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังใช้เวลาหารือนานกว่าชั่วโมงครึ่ง รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายออกมาบอกว่า หากจะเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ไม่กระทบกับพระราชพิธี แต่มีสิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง


อรชุน

รอลุ้นกันอีกครั้งหลังการประชุมกกต.วันนี้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นวันที่เท่าไหร่ แต่คงไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้แน่นอน เพราะจับสัญญาณจาก วิษณุ เครืองาม ที่เดินทางไปหารือกับกกต.วันวาน เพื่อชี้แจงถึงข้อมูลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังใช้เวลาหารือนานกว่าชั่วโมงครึ่ง รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายออกมาบอกว่า หากจะเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ไม่กระทบกับพระราชพิธี แต่มีสิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง

หลังจากการเลือกตั้งยังมีกิจกรรมทางการเมือง ทั้งการประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับจากวันเลือกตั้ง ซึ่งกกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งหลัง 24 เมษายนไม่ได้ เพราะติดขัดพระราชพิธี เหมือนที่วิษณุให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปหารือกกต. ส่วนใดที่ตรงกับวันพระราชพิธีไม่สามารถเลื่อนไปได้และจะขยับกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้เช่นกัน

ด้วยรายละเอียดเช่นนี้ จึงมีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งจะต้องถูกเลื่อนออกไป โดยอยู่ที่กกต.จะเป็นผู้พิจารณา หากยึดตามเงื่อนเวลาที่จะต้องเป็นวันอาทิตย์ ถ้าไม่ลากยาวเกิน 1 เดือนจากกำหนดเดิม ห้วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่วันที่ 10 หรือ 17 มีนาคม ในส่วนของพรรคการเมืองนั้นไม่มีพรรคใดมีปัญหาอยู่แล้ว เพราะสาเหตุของการเลื่อนนั้นเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนยินดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่วิษณุขอร้องคือให้เลิกพูดกันได้แล้วว่าจะมีการเลือกตั้งหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตรงนี้ชัดเจนในแง่ของตัวบทกฎหมายที่มาตรา 44 ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากเงื่อนไขของเวลาทั้งหมดเป็นสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อเลื่อนเลือกตั้งออกไปก็จะต้องเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีเช่นกัน

กรณีนี้เป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในส่วนงานเตรียมการพระราชพิธีของรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะเป็นรัฐบาลอำนาจเต็มสามารถเตรียมการพระราชพิธีสำคัญของคนไทยได้อย่างสมพระเกียรติ และรัฐบาลเองก็ไม่ได้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งด้วย จึงสามารถเตรียมการได้เต็มที่ กระบวนการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดจึงอยู่ที่การตัดสินใจของกกต.เท่านั้น

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้สองพรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ต่างมีปัญหาให้ต้องคอยแก้กันอยู่เป็นระยะ ผลพวงมาจากพลังดูดของพรรคเผด็จการคสช. ทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นศึกของคนตระกูลเดียวกัน แม้จะเข้าใจภาวะแยกกันเดินด้วยเหตุผลแรงกดดันอันมหาศาลโดยเฉพาะพวกที่มีคดีความและดำเนินกิจกรรมของครอบครัวในลักษณะสีเทา

พรรคเก่าแก่อาจมีปัญหาเรื่องคนกันเองตั้งพรรคแข่ง ถึงจะไม่ได้แย่งอดีตส.ส.ไปทั้งหมดแต่ก็สร้างปัญหาด้วยการดึงคนที่มีฐานเสียงไปลงแข่งกับพรรคของตัวเอง เห็นได้ชัดที่ชุมพร “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวหลังมีกระแสจะไม่ได้ลงสมัครในพื้นที่เขต 1 เพราะพี่ชาย “ลูกช้าง” สุพล จุลใส อดีตนายกอบจ.ชุมพร ดันไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลงสมัครส.ส.ในพื้นที่เขต 3

นั่นอาจเป็นเหตุที่ผู้ใหญ่ในพรรคเก่าแก่หามาเพื่อไม่ให้ถูกมองว่ารังแกเด็กในคาถาของ สุเทพ เทือกสุบรรณ แบบไร้เหตุผล แต่ลึก ๆ แล้วก็เป็นผลมาจากการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคที่ผ่านมา ที่เห็นได้ชัดว่าคนซีกของเทพเทือกรวมหัวกันเพื่อล้ม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยการชู นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม มาเป็นคู่แข่งสำคัญ ดังนั้น จึงต้องตามเช็กบิลกันทุกเม็ดทุกดอกเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง นี่แหละคุณสมบัติพิเศษของพรรคการเมืองนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ชวน หลีกภัย ที่วันนี้ในวัย 80 กว่าปี ยังคงพื้นที่ภาคใต้ช่วยว่าที่ผู้สมัครของพรรคหาเสียงอย่างแข็งขัน คงไม่ต้องบอกงานนี้ไล่เก็บทุกคะแนนเสียงเพื่อสั่งสอนบางพรรคการเมืองที่ทำตัวเป็นหอกข้างแคร่ แน่นอนว่าถ้าไม่นับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อดีตส.ส.ส่วนใหญ่ก็เข้าใจชะตากรรมตัวเอง จึงไม่ยอมย้ายสังกัด เห็นได้จากลูกหมีที่ยอมกลืนเลือดเพื่อรักษาฐานที่มั่นของตัวเองและครอบครัว

ส่วนพรรคนายใหญ่ วันนี้ปัญหาไม่ใช่ตัวผู้สมัคร แต่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่เกิดภาวะรักพี่เสียดายน้อง จากเดิม “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นเต็งจ๋านอนมาไร้คู่แข่ง คนอื่นที่จะถูกสั่งมาประกบก็เพื่อให้ครบตามจำนวน 3 คนไม่ให้น่าเกลียดเท่านั้น แต่พอปรากฏชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาร่วมเป็นผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคนายใหญ่ด้วย จึงทำให้เกิดคำถามตัวโตตามมาทันที

ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทั้งหมดเผื่อเหลือเผื่อขาดหรืออาจจะเรียกว่าเป็นการซื้อใจสำหรับคนที่ไม่ชอบใจเจ๊ ถึงเวลาหากพรรคชนะเลือกตั้งและสามารถระดมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้จริง จะได้มีบุคคลที่สร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ส่วนใครจะไต่บันไดไปถึงฝันเมื่อถึงวันนั้นไม่ใช่คนในพรรคเป็นผู้กำหนด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายใหญ่แต่เพียงผู้เดียว

ส่วนที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคงเป็นพรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ดูจากขนาดพรรคที่ขยับขึ้นมาใหญ่โต ประกาศส่งผู้สมัครครบ 350 เขต ล่าสุด หัวหน้าพรรคประกาศกร้าวอาจจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ใครจะไปรู้ พูดให้ดูเป็นปริศนาแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แม้จะเข้าใจว่านี่เป็นการสร้างความฮึกเหิมให้กับลูกพรรคก็ตาม แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้สำหรับการเมืองประเทศไทย

ขณะที่เลือกตั้งส.ส.ยังต้องรอความชัดเจน ที่เรียบร้อยโรงเรียนกกต.ไปแล้วก็คือ การเลือกส.ว. 200 คนเพื่อส่งชื่อให้คสช.เคาะ แต่ดูเหมือนจะเป็นการจบที่ไม่จบ เนื่องจากยังมีเรื่องร้องเรียนที่กกต.จะต้องตรวจสอบ ดูจากข้อกล่าวหาไม่รู้ว่างบประมาณที่ใช้ไปกว่า 1,300 ล้านบาทจะคุ้มค่าหรือเปล่า โดยผู้ร้องเรียนเห็นว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการกันไปในส่วนนิติบุคคลส่งผู้สมัครกลุ่ม 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมั่ว ไม่ตรงวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ทำให้การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

แม้กกต.จะส่งรายชื่อ 200 คนให้คสช.ไปแล้ว แต่ความผิดยังคงอยู่ และจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง นั่นจะทำให้คสช.ในฐานะผู้เลือกต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่แน่ว่าบางคนหากได้รับเลือกแล้ว หากคดีความไปถึงศาลแล้วชี้ว่าการเลือกกันเองครั้งนี้เป็นโมฆะจะทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ นี่แหละต้นทุนของความที่อยากจะแสดงให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่ส.ว. 250 คนต้องผ่านกระบวนการลากตั้งอยู่แล้ว ไม่รู้จะทำให้ยุ่งยากและอาจจะเสียหายภายหลังไปเพื่ออะไร

Back to top button