พาราสาวะถี

น่าคิดไม่น้อยกับความเห็นของ วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตและอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียหรือเอไอที ที่พูดถึงการวางกับดักตัวเลขผ่านการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่อาจารย์ท่านนี้เรียกว่า “อภินิหารของนิติคณิตบริกร” แน่นอนว่าเรากำลังจะเห็นผลการเลือกตั้งที่จะได้พรรคเล็กที่มีส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนเป็นจำนวนมาก อย่างน้อย 18 พรรคหากผลเลือกตั้งเป็นไปตามที่กกต.ประกาศไว้ล่าสุด


อรชุน

น่าคิดไม่น้อยกับความเห็นของ วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตและอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียหรือเอไอที ที่พูดถึงการวางกับดักตัวเลขผ่านการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่อาจารย์ท่านนี้เรียกว่า “อภินิหารของนิติคณิตบริกร” แน่นอนว่าเรากำลังจะเห็นผลการเลือกตั้งที่จะได้พรรคเล็กที่มีส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนเป็นจำนวนมาก อย่างน้อย 18 พรรคหากผลเลือกตั้งเป็นไปตามที่กกต.ประกาศไว้ล่าสุด

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะกติกาในการคำนวณถูกออกแบบไว้อย่างนั้น ถือเป็น “อภินิหารของนิติคณิตกรรม” โดยที่อาจารย์วรศักดิ์ได้อธิบายวิธีคิดคำนวณไว้อย่างละเอียด ซึ่งคงไม่ต้องไปมองละเอียดขนาดนั้น ดูแค่บทสรุปที่อาจารย์ได้บอกไว้ก็ทำให้เห็นภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น กล่าวคือ กับดักของนิติคณิตบริกรที่เรานึกไม่ถึง

นั่นก็คือ การสร้างกลไกให้สภามีพรรคเล็ก ๆ จำนวนมาก คนส่วนใหญ่จะคิดว่าต้องตัดพรรคที่ได้ “ส.ส.พึงมี” ต่ำกว่า 1 ทิ้งไปก่อน (เพราะไม่ Qualified แล้ว) แล้วถึงนำพรรคที่มีส.ส.พึงมีมากกว่า 1 ทั้งหมดมาปรับทศนิยมให้เป็นตัวเลขกลม ๆ แบบนี้ ก็จะไม่มีการเบียดบังเสียงไปให้กับพรรคที่คะแนนดิบไม่พอสำหรับ 1 เสียงแล้ว

หากเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างที่อาจารย์อธิบายคงไม่มีปัญหา แต่เมื่อประเมินจากจังหวะก้าวของกกต.ร่วมด้วย จึงนำมาซึ่งเสียงทักท้วงว่า เราต้องช่วยกันเข้าใจและดูท่าทีของกกต.ว่าจะประกาศออกมาอย่างไร ให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับได้ ต้องไม่ลืมว่า เกือบ 5 ปีที่ผ่านมาและเห็นเด่นชัดในห้วงก่อนเลือกตั้งจนกระทั่งมาถึงผลเลือกตั้งที่ออกมา เราได้เห็นภาพพวกสีข้างเข้าถูกันจนถลอกปอกเปิกไปหมดแล้ว

นั่นเป็นเพราะการสืบทอดอำนาจที่เป็นเป้าหมายหลักตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจ เป็นโจทย์ที่กำหนดไว้โดยไม่สนใจวิธีการว่าจะออกมาอย่างไร มิเช่นนั้น คงจะไม่มีตอกย้ำกันด้วยเรื่องผลป๊อปปูล่าร์โหวต จนกระทั่งเวลานี้บรรดากองเชียร์สุดโต่งของเผด็จการต่างพากันเชื่อหัวปักหัวปำว่าคะแนนที่ออกมานั้นคือความชอบธรรมของพรรคสืบทอดอำนาจและเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง

ทั้ง ๆ ที่ผลแพ้ชนะมันต้องนับที่ตัวเลขส.ส.ในสภา ไม่มีใครว่าเลยหากแกนนำพรรคสืบทอดอำนาจจะประกาศว่า พรรคที่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงส.ส.ได้มากกว่ามีความชอบธรรมที่จะตั้งรัฐบาล โดยไม่ต้องพูดถึงป๊อปปูล่าร์โหวต แต่พออ้างเพื่อพยายามที่จะทำให้เห็นว่าตัวเองมีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล มันจึงมีแต่เสียงโห่ฮามากกว่าคำชื่นชม

เหตุผลนั้นได้อธิบายไปหมดแล้ว หรือถ้าจะอธิบายแบบเป็นวิชาการ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยก็ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเสียงส.ส.กับป๊อบปูล่าร์โหวตแล้วว่า สิ่งไหนเป็นตัวบ่งชี้ชัยชนะในการเลือกตั้ง กระนั้นก็ยังมีพวกดื้อตาใสที่จะแถกันไปได้ตลอดเวลา จนกระทั่งล่าสุด พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ต้องออกมาอธิบายซ้ำเรื่องนี้อีกรอบ

มุมของพรสันต์นั้นไม่ได้มุ่งไปที่ประเด็นทางการเมือง แต่เพื่อความถูกต้อง มิให้หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญถูกบิดเบือน อีกทั้งป้องกันมิให้กิจการทางการเมืองและสังคมต้องสับสนหลงผิดอันนำไปสู่การวางบรรทัดฐานการเมืองที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับการเมืองไทยในอนาคต ระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทน หรือ Representative democracy ไม่ว่าจะมีระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดีหรือระบบรัฐสภาต่างก็ยึดถือ “จำนวนที่นั่งของตัวแทน” ที่ได้รับเลือกเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล หาได้มีการอ้างถึงป๊อปปูล่าร์โหวตแต่อย่างใด

การที่มีบางคนอ้างอิงว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีการอ้างถึงป๊อปปูล่าร์โหวต เพื่อการพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในกรณีล่าสุดระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ ฮิลลารี คลินตัน ก็เป็นการอ้างที่คลาดเคลื่อน เพราะท้ายที่สุดแล้ว กรณีนี้ก็เป็นการถือเอาจำนวนของผู้แทนในคณะผู้เลือกตั้งหรือ อิเล็กโทรัล โหวต มิใช้ป๊อปปูล่าร์โหวตมาคำนึงเป็นหลัก จึงส่งผลให้ทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน

การอ้างป๊อปปูล่าร์โหวต โดยอ้างถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยึดโยงกับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ว่าเสียงทุกเสียงมีค่าต้องถูกนำมาคำนวณ จะไม่มีการโยนเสียงทิ้งน้ำนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองในระบบผู้แทนที่มีการบัญญัติรับรองไว้ในหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป หมวด 7 ว่าด้วยรัฐสภา และหมวด 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี อันถือเป็นหลักการที่สำคัญในระดับรัฐธรรมนูญ

การอ้างเพียงเฉพาะป๊อปปูล่าร์โหวต โดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่นั่งของตัวแทนพรรคตนเองที่ได้รับเลือกมา แม้ว่าจะน้อยกว่าพรรคอื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น เป็นการขัดแย้งและทำลายหลักการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ทั้งประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) มีธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ หรือที่ถูกเรียกในภาษาทางการเมืองว่า มารยาททางการเมืองที่ปฏิบัติกันมา

ส่วนที่มีบางคนโต้แย้งว่ามารยาททางการเมืองไม่มีกฎหมายรับรองซึ่งก็ถูกต้อง แต่พึงต้องเข้าใจด้วยว่าเรื่องดังกล่าวหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ หรือ Rule of the constitution ประเภทหนึ่ง แม้ว่ามารยาททางการเมืองจะไม่เป็นกฎหมาย แต่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกันข้ามกับป๊อปปูล่าร์โหวตที่ไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นป๊อปปูล่าร์โหวตจึงถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบรัฐธรรมนูญ อันมิอาจอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมใด ๆ ได้เลย

แต่สำหรับพวกศรีธนญชัยที่ทำทุกทางเพื่อให้ได้อำนาจมาและอยู่ต่อแบบหน้าด้าน ๆ คงไม่มีทางที่จะหยุดอ้างถึงสิ่งแปลกปลอมอย่างที่พรสันต์เสนอ เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงความชอบธรรม ไม่สนเรื่องการสร้างความสับสนหรือความขัดแย้งใด ๆ มิหนำซ้ำ สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นนั่นแหละที่จะทำให้คนพวกนี้สามารถอยู่ต่อไปได้อีกนาน ยิ่งขัดแย้งยิ่ง(อ้าง)ชอบธรรมที่จะอยู่ยาว นี่คือความจริงของบ้านเมืองตลอด 5 ปีที่ผ่านมา.

Back to top button