‘วงจรขึ้นดอกเบี้ย’ ปิดฉากลงแล้ว 

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ธนาคารกลางใหญ่ ๆ ทั่วโลกได้ยุติการเข้มงวดนโยบายแล้วเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดใหม่และเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอับเฉาและเงินเฟ้อก็ไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น


รายงานพิเศษ

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ธนาคารกลางใหญ่ ๆ ทั่วโลกได้ยุติการเข้มงวดนโยบายแล้วเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดใหม่และเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอับเฉาและเงินเฟ้อก็ไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น

มุมมองเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในตลาดพันธบัตรเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลใหญ่ ๆ ปรับตัวลงในปีนี้  และหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวขึ้น ดัชนีเอสแอนด์พี 500 กำลังเข้าใกล้สถิติสูงสุดหลังจากที่เริ่มต้นปีนี้ได้ดีงามที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ

ข้อสรุปหนึ่งจากผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์กว่า 500 คนทั่วโลกในกว่า 40 ประเทศของรอยเตอร์ล่าสุดไม่เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ลดโทนแนวโน้มการเติบโตลงเท่านั้น แต่ยังมีความเห็นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนหลังจากที่มีมุมมองเชิงบวกมานาน

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลึกลง มากกว่าที่จะฟื้นตัวพร้อมกันหรือไม่ แต่นักเศรษฐศาสตร์ถึง 38 คนได้ลดแนวโน้มการเติบโตในปีนี้ หรือไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มเลย นักเศรษฐศาสตร์ของ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า การเติบโตทั่วโลกจะชะลอตัวลงนานกว่าที่มีการสันนิษฐานไว้โดยทั่วไป ท่าทีนโยบายที่อ่อนลงของธนาคารกลางและการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการเติบโตของจีดีพีทั่วโลกให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน  ภาวะเศรษฐกิจที่สร้างความผิดหวังจะทำให้เงินเฟ้อต่ำมากและเป็นสาเหตุให้ต้องผ่อนคลายนโยบายเงินเกือบทุกที่ แต่ก็ไม่คาดว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีความหมายจนกว่าจะถึงปี 2564

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกจะโตเฉลี่ย 3.4% ซึ่งถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ที่รอยเตอร์เริ่มทำการสำรวจการเติบโตของปี 2562 เมื่อเกือบสองปีก่อน ส่วนประมาณการเติบโตสำหรับปีหน้าอยู่ที่ 3.4% เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ประมาณการของผลสำรวจรอยเตอร์สำหรับปีนี้ยังสูงกว่าประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งอยู่ที่ 3.3% เท่านั้น

ในขณะนี้ความเสี่ยงสำคัญสองประการที่ได้ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้บรรเทาเบาบางลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐและแนวโน้มที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยไม่มีข้อตกลง แต่ธนาคารกลางใหญ่ ได้ส่งสัญญาณว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้วเป็นส่วนใหญ่และนักเศรษฐศาสตร์เกือบ 60% จากจำนวนมากกว่า 200 คน มั่นใจว่า วงจรการเข้มงวดนโยบายเงินทั่วโลกได้สิ้นสุดลงแล้ว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ทำให้ความสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษหายไปในบัดดลหลังจากรับปากว่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำไว้เป็นพิเศษอีกอย่างน้อยหนึ่งปี และธนาคารกลางสวีเดน กล่าวว่า จะขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่ได้วางแผนไว้เล็กน้อย

ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ส่งสัญญาณว่าขึ้นดอกเบี้ยเสร็จสิ้นแล้วโดยอย่างน้อยจนถึงปลายปีหน้า นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งหลังจากนั้น

ส่วนธนาคารกลางยุโรปก็ได้พลาดโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยแล้วหลังจากที่การเติบโตและแนวโน้มเงินเฟ้อของเศรษฐกิจในยูโรโซนมืดมนลง

ประมาณการของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และแคนาดาสำหรับปีนี้และปีหน้าได้ลดลงทั้งสิ้น และประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็ไม่แตกต่างกันมาก แม้มีความพยายามจากผู้กำหนดนโยบายที่จะกระตุ้นการเติบโตก็ตาม โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ตั้งแต่เอเชีย แอฟริกา ยันลาตินอเมริกาจะสูญเสียแรงส่งลง

นักเศรษฐศาสตร์ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า แม้นโยบายเงินและนโยบายคลังที่ผ่อนคลายลงควรจะช่วยรองรับผลกระทบที่ดีมานด์การส่งออกที่ลดลงจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย แต่การเติบโตของภูมิภาคในปีนี้น่าจะยังอยู่ในอัตราที่ต่ำสุดในรอบทศวรรษ

ดูเหมือนว่าในขณะนี้ทุกคนจะพยายามหาแพะรับบาปที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา  ธนาคารกลางยุโรปโทษความซบเซาในยูโรโซนว่าเป็นเพราะการชะลอตัวในจีน และความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐก็โทษยุโรปว่าเป็นตัวฉุดสำคัญต่อการเติบของสหรัฐฯ

การที่ธนาคารกลางต่างชี้นิ้วโทษกันไปมาเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่าต่างฝ่ายก็ไม่มั่นใจว่านโยบายที่พวกเขาได้ทำไปมีประสิทธิผลจริง ๆ …ต้องรอฟังธนาคากลางสหรัฐอีกทีในสัปดาห์นี้ว่าจะมีความเห็นอย่างไร หลังการประชุมในวันที่ 1 พฤษภาคม

Back to top button