พาราสาวะถี

ปมการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น คำถามที่สำคัญคือขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วสถานะรัฐบาลเป็นอย่างไร ฟังจากปากของนักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคฝ่ายค้าน ย่อมมีความโน้มเอียงไปในทิศทางที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญและสถานะไม่น่าจะถูกต้อง จึงมีข้อเรียกร้องถึงกระบวนการการยอมรับข้อผิดพลาดแล้วดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่จะสามารถตอบคำถามคลายข้อกังขาต่าง ๆ ได้


อรชุน

ปมการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น คำถามที่สำคัญคือขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วสถานะรัฐบาลเป็นอย่างไร ฟังจากปากของนักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคฝ่ายค้าน ย่อมมีความโน้มเอียงไปในทิศทางที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญและสถานะไม่น่าจะถูกต้อง จึงมีข้อเรียกร้องถึงกระบวนการการยอมรับข้อผิดพลาดแล้วดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่จะสามารถตอบคำถามคลายข้อกังขาต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นทางวิชาการจาก ปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อกรณีดังกล่าว ผ่านบทสัมภาษณ์ทางเว็บไซต์ประชาไทวันก่อน ระบุว่า รัฐธรรมนูญกำหนดการถวายสัตย์ปฏิญาณโดยระบุถ้อยคำอย่างชัดเจน ผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณจึงต้องกล่าวถ้อยคำตามที่ระบุไว้ทุกประการจึงจะถือเป็นการถวายสัตย์ฯ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกฎหมาย ปุจฉาที่คนจำนวนน้อยต้องการคำตอบที่คงยากที่จะได้ยินนั่นก็คือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ท่านผู้นำ “ลืมหรือตั้งใจ”

แล้วการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์กับสถานะของคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างไร ในมุมของปูนเทพมองว่า อาจถือได้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว แต่ก็ยังคงสถานะของคณะรัฐมนตรีที่ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่า ข้อกังขาตรงนี้จะเป็นเป็นสิ่งที่ค้างคาใจตราบใดที่ฝ่ายผู้ทำผิดพลาดไม่ได้ดำเนินการแก้ไข หรือกระบวนการในขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำตอบ ก็จะยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจก้าวเดินด้วยความลำบาก

เห็นได้ชัดว่า ข้อกฎหมายที่ไม่มีปมให้ต้องตีความเนติบริกรข้างกายของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ จะตอบได้อย่างฉะฉาน ชัดเจน แต่กับปมตรงนี้เต็มไปด้วยความระมัดระวัง หนักไปในทางน้ำท่วมปากเสียด้วยซ้ำไป ไม่เพียงเท่านั้น กับญัตติอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าคำตอบที่หากท่านผู้นำไปตอบเองหรือมอบหมายให้ใครไปตอบแทน จะออกมาอย่างไร แนวโน้มคงหนีไม่พ้นรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยรัฐบาลพร้อมที่จะยึดตามกฎหมายและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ขณะที่หากเกิดกรณีสมมติว่าคณะรัฐมนตรีเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย ไม่ถวายสัตย์ฯ ใหม่ ไม่แก้กฎหมาย แล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ปูนเทพชี้ว่าในทางการเมืองทุกฝ่ายก็มีสิทธิตรวจสอบ ตั้งคำถามไปตลอดเวลา จนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนถึงการเลือกตั้งใหม่ คือไม่ทำอะไรเลย ในทางหนึ่งก็ต้องหาช่องทางให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้ามาวินิจฉัยเรื่องนี้ว่ามีผลหรือสถานะทางกฎหมายอย่างไร พูดบนหลักการที่ว่าค่อนข้างคาดหวังกับองค์กรเหล่านี้ได้ยากในทางข้อเท็จจริง

แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็ไม่สามารถปิดปากหรือห้ามตั้งคำถามเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น มันเป็นเรื่องที่ควรต้องพูดและทุกคนควรต้องได้รับคำตอบจากองค์กรทางรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่าเพราะเหตุใดรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนเอาไว้จึงไม่ถูกเคารพหรือถูกปฏิบัติตาม ประเด็นนี้ถือว่าแหลมคม เพราะกระบวนการหลังการยึดอำนาจของคสช.อ้างถึงการปฏิรูปในทุกภาคส่วน แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่าองคาพยพที่เกี่ยวข้องทั้งหลายกลับไม่ปฏิรูปเสียเอง

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเรื่องการจัดพิธีรับพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์ของท่านผู้นำพร้อมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ตรงนี้พลเอกประยุทธ์จะนำมาอ้างและทำให้การตั้งคำถามหรือการตรวจสอบเป็นเรื่องลำบากด้วยหรือไม่ ซึ่งปูนเทพก็อธิบายว่า ต้องแยกเรื่องนี้ออกจากกัน สถานะของพระราชดำรัส บทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงอยู่เหนือการเมือง

นั่นหมายความว่าโดยหลักแล้วการที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจะมีผู้รับผิดชอบอยู่ สำหรับเรื่องพวกนี้ ในเมื่อการกระทำที่ไม่ชอบหรือไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากคณะรัฐมนตรี ก็ต้องแยกความรับผิดชอบหรือประเด็นปัญหาออกจากพระราชดำรัส พระราชดำรัสไม่มีผลเยียวยาให้การปฏิบัติที่ไม่ชอบให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ พระราชดำรัสก็ไม่ทรงต้องรับผิดชอบกับการถวายสัตย์ฯ ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันนี้ต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน

ประเด็นอ่อนไหวเช่นนี้ อย่างที่บอกมาโดยตลอดต้องไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหยิบยกไปพูดในทางการเมืองเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เพราะคนไทยทุกคนต่างตระหนักกันดีว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น สถานะของสถาบันสูงสุดต้องอยู่เหนือการเมือง ที่สำคัญคือ ที่ผ่านมาฝ่ายที่ตรวจสอบก็ว่ากันตามกลไกปกติเดินตามครรลองของระบบรัฐสภา มีแต่ฝ่ายหนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจนั่นแหละที่ยกเอาสิ่งที่ไม่ควรมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ดังนั้น สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปในระยะเวลาอันใกล้นี้คงเป็นการตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์เซ็นเตอร์ ที่ พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสายกปปส.กำลังผลักดันสุดลิ่มทิ่มประตู รูปแบบและการบริหารจัดการจะออกมาอย่างไร เป็นไปตามข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้มีไว้เพื่อใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจริงหรือไม่

มุมมองจาก เจษฎา ศาลาทอง จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ การบริหารจัดการศูนย์ดังกล่าวควรจะต้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมที่มีความเป็นอิสระสูง หากการจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอมเป็นหน้าที่ของภาครัฐซึ่งเป็นผู้ดูแลเพียงผู้เดียวย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการปิดกั้นข่าวสาร และการตีความของความหมายคำว่าข่าวปลอมที่ไม่ตรงกันระหว่างรัฐและประชาชน

เฟคนิวส์ที่ภาครัฐให้นิยามกับประชาชนให้นิยามใช้ตัวเดียวกันไหม ในสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าข่าวที่เขียนโจมตีตัวเขาคือเฟคนิวส์ เช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง และถูกมองว่าเอาข้ออ้างเฟคนิวส์มาปิดปากประชาชน ยิ่งทำให้ประชาชนมองไปทางที่ว่าห้ามตั้งคำถามกับภาครัฐ หากเป็นเช่นนี้ท้ายที่สุด การแก้ข่าวปลอมหากใช่เรื่องของภาคประชาชนและฝ่ายอื่นไม่ ภาครัฐเองนั่นแหละที่ต้องเป็นผู้ให้ข่าวจริงและตอบแต่เรื่องจริงที่ประชาชนอยากรู้อย่างตรงไปตรงมา

X
Back to top button