พาราสาวะถี

เป็นไปตามคาด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงหลังการประชุมครม. ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้มีผลในทันที โดยทอดระยะเวลามีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ สิ่งที่หลายคนจับจ้องคือ จะมีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนออกนอกบ้าน การเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัดหรือไม่ เพราะสิ่งที่เป็นปัญหากับการควบคุมสถานการณ์ของฝ่ายรัฐเวลานี้คือเรื่องดังกล่าว


อรชุน

เป็นไปตามคาด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงหลังการประชุมครม. ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้มีผลในทันที โดยทอดระยะเวลามีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ สิ่งที่หลายคนจับจ้องคือ จะมีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนออกนอกบ้าน การเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัดหรือไม่ เพราะสิ่งที่เป็นปัญหากับการควบคุมสถานการณ์ของฝ่ายรัฐเวลานี้คือเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากสารที่ท่านผู้นำสื่อไปยังประชาชนจากการแถลงข่าวครั้งนี้ ดูเหมือนการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องการที่จะโฟกัสไปยังปัญหาการใช้สื่อโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียและการจัดการปัญหาการกักตุนสินค้าและการขึ้นราคาสินค้าเกินจริง เพราะท่านผู้นำย้ำว่า ฝากสื่อและผู้ที่ใช้โซเชียลในทางที่บิดเบือน ต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจทางคดีอาญาจากกฎหมายฉบับนี้ สามารถจับกุมดำเนินคดีได้

ประเด็นด้านการนำเสนอข่าวนั้น ท่านผู้นำยืนยันว่า จากนี้ไปการให้ข่าวและข้อมูลมี 2 ช่องทางคือ การให้ข้อมูลในโซเชียลต่าง ๆ รวมถึงทวิตเตอร์ จะดำเนินการตั้งแต่เช้าถึงเย็นโดยมีศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ มีการแถลงทั้งวันและจะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถามหรือโทรศัพท์เข้ามา ในส่วนของวาระสรุปก็เป็นเรื่องของโฆษกฯ และศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินหรือศอฉ.จะสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวันให้ทราบ

ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดของพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะเห็นว่ามีข้อห้ามที่สำคัญแยกออกเป็น 6 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ห้ามการใช้อาคารหรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ และให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนหรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ขณะที่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล ออกมาย้ำอีกแรงว่า ในเนื้อหาของพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะออกมา จะไม่มีเรื่องเคอร์ฟิวแน่นอน เพราะที่ประชุมครม.ได้เน้นเรื่องการกำหนดไม่ให้เข้าพื้นที่เสี่ยงที่ประกาศปิด คำแนะนำไม่ให้ข้ามเขตจังหวัด หรืออาจจะปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่มเติมตามอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและกระทรวงมหาดไทย รวมถึงปิดช่องทางเข้าไทยตามด่านต่าง ๆ แต่ยังคงให้ต่างชาติเดินทางออกนอกประเทศได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานที่ว่ารอบคอบและไม่จำกัดสิทธิประชาชนมากเกินไป

กระนั้นก็ตาม มีข่าวเล็ดลอดมาว่าสิ่งที่จะได้เห็นในพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะประกาศใช้นั้น เบื้องต้นจะมีมาตรการ 14 ข้อ เช่น ขอร้องและแนะนำให้ทุกคนอยู่กับบ้าน ห้ามคนต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่งอาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานหรือเวิร์คเพอร์มิต ส่วนคนไทยสามารถเข้าประเทศได้ ออกนอกเคหะสถานได้ ไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่จะเพิ่มความยุ่งยากขึ้น เช่น มาตรการการตรวจวัดไข้ หรือเรื่องใบรับรองทางการแพทย์

นอกจากนี้ จะมีการขอร้องผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วยและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้อยู่แต่ในบ้านพัก หากมีความจำเป็นก็จะต้องมีกระบวนการพิจารณากันเป็นรายกรณีไป คงต้องอดใจรอกันอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง จะได้เห็นว่ามาตรการที่จะออกมานั้น ไปในในลักษณะประนีประนอมหรือจะเข้มข้น เด็ดขาด เพราะเสียงเรียกร้องของคนส่วนใหญ่เวลานี้คือการล็อกดาวน์ โดยที่ภาครัฐต้องมีมาตรการมารองรับและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ในส่วนนั้น ที่ประชุมครม.ก็ได้เคาะมาแล้วเหมือนกันเป็นมาตรการในระยะที่ 2 เน้นไปที่แรงงานและอาชีพอิสระซึ่งอยู่นอกระบบประกันสังคม ดูแลกันเบื้องต้นในระยะ 3 เดือนโดยเงินสนับสนุนรายละ 5 พันบาท และมีการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำแบบไร้หลักประกันไม่เกินรายละ 1 หมื่นบาท และแบบมีหลักประกันไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท รวมถึงมาตรการด้านภาษีที่ครอบคลุมถึงผู้เสี่ยงภัยอันหมายถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกันและรักษาด้วย

ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่งและน่าจะช่วยทำให้ลดความตื่นตระหนกของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกาศของกทม.และกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา แต่จะเป็นที่พึงพอใจ และสร้างแรงจูงใจนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับมาตรการของรัฐที่จะออกมาหรือไม่ คงต้องรอดูปฏิกิริยาที่จะตามมาหลังจากนี้ รวมไปถึงเงื่อนไขและระเบียบต่าง ๆ ที่จะออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วยว่า การอยู่นิ่งอยู่กับบ้านนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดวิกฤตกับตัวเองและครอบครัว

อาจมีคำถามว่าใครก็ตามที่คิดเช่นนี้เหมือนพวกเห็นแก่ตัว ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่อย่าลืมเป็นอันขาด ไม่มีใครไม่กลัวโรคร้ายที่สร้างความหวาดหวั่นไปทั้งโลก ไม่มีใครอยากจะเดินทางไปทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่มาตรการของรัฐและการวางแผนช่วยเหลือให้ครอบคลุมได้มากที่สุด หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างสอดประสานกัน ไม่เชื่อว่าจะมีใครไม่ยอมให้ความร่วมมือ

ดังนั้น เหมือนอย่างที่ จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอแนะ มาตรการจากนี้ต้องให้ชัด คนออกจากบ้านได้ในกรณีใดบ้าง กิจการใดต้องหยุด กิจการใดต้องส่งเสริมให้ทำต่อไป การหยุดงาน การจำกัดการเดินทาง การบังคับใช้กฎหมาย การจัดการเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ การเยียวยาและการดูแลผู้ที่ยากจนเดือดร้อนทั้งระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัย รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจนเด็ดขาด จะทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือกลัว ๆ กล้า ๆ ไม่ได้อีกต่อไป

Back to top button