พาราสาวะถี

นับว่าสัญญาณดีที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแถลงของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ในช่วงสองวันที่ผ่านมาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ พบผู้ติดเชื้อ 51 รายในการแถลงวันที่ 6 เมษายน และ 38 รายในการแถลงวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมล่าสุดอยู่ที่ 1 ราย รวมเป็น 27 ราย ตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในเวลานี้ เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ของการดำเนินการมาตรการอย่างเข้มข้นของรัฐบาลโดยเฉพาะการประกาศเคอร์ฟิว


อรชุน

นับว่าสัญญาณดีที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแถลงของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ในช่วงสองวันที่ผ่านมาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ พบผู้ติดเชื้อ 51 รายในการแถลงวันที่ 6 เมษายน และ 38 รายในการแถลงวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมล่าสุดอยู่ที่ 1 ราย รวมเป็น 27 ราย ตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในเวลานี้ เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ของการดำเนินการมาตรการอย่างเข้มข้นของรัฐบาลโดยเฉพาะการประกาศเคอร์ฟิว

จะเห็นได้ว่า หลังการประกาศใช้เคอร์ฟิว 6 ชั่วโมงคือ สี่ทุ่มถึงตีสี่ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ที่ผ่านมา ผ่านไปไม่ทันไรก็มีข่าวกระพือหนาหูว่า จะมีการยกระดับเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง อันเป็นผลมาจากคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทยที่มีไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จนกระทั่งโฆษกศบค.ต้องแถลงและกล่าวหาว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเพราะสื่อไม่เข้าใจเนื้อหาในหนังสือราชการแล้วนำไปตีความ จนทำให้เกิดเป็นแรงกระเพื่อม

จนถึงนาทีนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีแนวคิดที่จะประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงแต่อย่างใด แน่นอนว่า โอกาสของการที่จะยกระดับมาตรการรุนแรงขนาดนั้นคงเป็นไปได้ยาก ประกอบกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่หากเป็นไปในทิศทางที่เห็นในช่วงสองวันที่ผ่านมา ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการเข้มข้นถึงขนาดนั้น ส่วนการที่จะเพิ่มระยะเวลาของเคอร์ฟิวจาก 6 ชั่วโมงไปอยู่ที่ 8,10 หรือ 12 ชั่วโมงนั้น ถือว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า

เวลานี้ไม่ใช่เฉพาะว่ารัฐบาลจะต้องจัดการโควิด-19ให้ได้เท่านั้น แต่ยังต้องประเมินสถานการณ์อันเป็นผลกระทบด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ แม้ในการประกาศเคอร์ฟิวจะมีข้อยกเว้นบางประการ แต่มันก็ไม่ได้เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ดังนั้น เรื่องการจะประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชั่วโมงนั้น จึงน่าจะเลิกพูดถึงกันได้ ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ของประชาชนส่วนใหญ่นั่นเอง

ส่วนใครที่ตั้งคำถามว่าตัวเลขที่ลดลงนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือไม่ อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ว่า จังหวะคาบเกี่ยวกับการประกาศเคอร์ฟิวนั้น มันจะมีตัวเลขที่สอดประสานกันคือ จำนวนผู้ป่วยอันเกิดจากการแพร่ระบาดมาจากสนามมวยและสถานบันเทิง ก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการเข้มข้น ซึ่งครั้งนั้นต้องยอมรับว่าเป็นการกระจายเชื้อที่กว้างขวางและรวดเร็ว จนนำมาซึ่งการยกระดับมาตรการต่าง ๆ มาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เราได้เห็นกันหลังจากกรณีการติดเชื้อของเซียนมวย คนดังที่เกี่ยวข้องกับเวทีมวยและสถานบันเทิงย่านหรูนั้น จึงแตะที่ระดับเกือบ 200 คนต่อวันและไม่ต่ำกว่าหลักร้อยทรงตัวมาต่อเนื่องเกือบ 1 เดือน ซึ่งเคยบอกแล้วว่า ถ้าเรายกไทม์ไลน์ที่ว่า เกิดเหตุแพร่เชื้อและรับเชื้อล็อตใหญ่เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ผ่านการแถลงจะอยู่ในระดับสูงเหมือนที่ผ่านมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์

เมื่อพ้นช่วงของกลุ่มผู้แพร่และรับเชื้อจากกรณีดังกล่าวไปแล้ว ตัวเลขที่ปรากฏจะต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากยังคงสูงอยู่ต่อไป นั่นหมายความว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมานั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง การประกาศเคอร์ฟิวไม่ว่าจะกี่ชั่วโมงหรือ 24 ชั่วโมงก็ไม่มีความหมาย แต่หากพ้นช่วงเวลาดังว่ามาแล้ว และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง นั่นย่อมชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการมานั้นเดินถูกทางแล้ว

ชัดเจนว่าหากแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังเป็นไปในลักษณะเหมือนสองวันที่ผ่านมา จะทำให้ผู้ที่ทำงาน บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน รวมทั้งที่อยู่ในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย น่าจะใจชื้นขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้บริหารระดับสูงรวมทั้งศบค.เองก็ย้ำอยู่ตลอดว่า แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะลดลง แต่ยังไม่ถือว่าอยู่ในภาวะที่ไว้วางใจได้ มาตรการต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ยังคงต้องเข้มข้นต่อไป ลดระดับลงไม่ได้ จนกว่าจะมั่นใจว่าเอาอยู่เมื่อไหร่นั่นแหละจึงจะเบามือ

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่องค์การอนามัยโลกรวมถึงองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับสากล ให้การยอมรับประเทศไทยอยู่ในระดับหัวแถวของการเฝ้าระวังและรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งตรงนี้ต้องชื่นชมความทุ่มเท เสียสละและทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น สำนึกและความรับผิดชอบของคนไทยทุกคน ยังถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคมและการป้องกันตัวเองตามมาตรการต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติกันโดยเคร่งครัดต่อไป

มีเรื่องที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง กับตัวเลขที่คนสงสัยและเกิดคำถามมาโดยตลอด สรุปแล้วการตรวจหาเชื้อของคนที่สงสัยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น มีการดำเนินการกันกี่มากน้อย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขหรือแม้แต่รัฐบาลเองก็ไม่ได้มีการชี้แจงในเรื่องนี้ จนทำให้เป็นที่กังวลกันว่า หากยังมีการตรวจในวงจำกัด ไม่ขยายวงกว้างออกไป ก็ยังถือว่าประเทศไทยมีโอกาสเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการและไม่ได้เข้าสู่ระบบการตรวจอีกจำนวนมาก

ประเด็นนี้ต้องขอบคุณ “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่อุตส่าห์ไปหาแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข แล้วมายืนยันกับประชาชนว่า ความจริงแล้วการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อที่ภาษาทางการเรียกว่า RT-PCR Test นั้น จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับเป็นเจ้าภาพรวบรวมนั้น พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 4 เมษายน 2563 มีการตรวจไปแล้ว 71,860 ตัวอย่างคิดเป็น 1,029 tests ต่อประชากร 1,000,000 คน

ตัวเลขนี้สำคัญอย่างไร สำคัญเพราะการที่ไทยพบผู้ป่วยจากการตรวจ RT-PCR ร้อยละ 3.09 จากตัวเลขเดิม 8.85 เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 2.24 และเยอรมนีร้อยละ 10.9 ถือได้ว่า การตรวจคัดกรองของไทยทำได้กว้างขวางพอสมควร ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ ซึ่งประเด็นในลักษณะอย่างนี้ทีมสื่อสารของรัฐบาลโดยศบค. อาจต้องให้เล็งเห็นความสำคัญด้วย เพราะที่ผ่านมาก็ถูกโจมตีโดยตลอดว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อกรณีนี้ นี่อาจเป็นหนึ่งตัวอย่างเปรียบเทียบของฝ่ายบริหารที่ทำงานเป็นกับทำงานได้กระมัง

Back to top button