สีส้ม..แก้เพื่อใคร.?

เกิดเรื่อง “ชีช้ำกะหล่ำปลี” ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าด้วยเรื่องทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เมื่อรฟม.ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทีโออาร์ประมูลใหม่ หลังปิดการขายซองให้เอกชนไปแล้ว


สำนักข่าวรัชดา

เกิดเรื่อง “ชีช้ำกะหล่ำปลี” ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าด้วยเรื่องทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เมื่อรฟม.ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทีโออาร์ประมูลใหม่ หลังปิดการขายซองให้เอกชนไปแล้ว

ตามข้อเสนอจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ แถว ๆ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ทั้งที่ประชาพิจารณ์สรุปกันที่ทีโออาร์เดิม เหมือนดังเช่นยึดถือปฏิบัติกันมาทุกโครงการ..!!

แสดงว่าทีโออาร์ใหม่..มันต้องวิเศษวิโสกว่าของเก่าอย่างมากมาย จนถึงขั้นที่ “ต้องแก้” ตามคำขอของเอกชนดังว่าแบบทันทีทันใด..จากเดิม 3 ซอง เปิดทีละซอง เริ่มจาก “ซองคุณสมบัติ” ตามด้วย “ซองเทคนิค” และปิดท้ายที่ “ซองราคา” รู้แพ้รู้ชนะกันตรง “ซองราคา” นี่แหละ..

แต่ทีโออาร์ใหม่..หลังผ่านซองคุณสมบัติแล้ว “ซองเทคนิค-ซองราคา” มาเปิดพร้อมกัน..เท่ากับว่าใครที่เสนอตัวเลขผลประโยชน์ดีสุด..“อาจไม่ใช่ผู้ชนะประมูล” เหมือนที่เคยใช้ปฏิบัติอีกต่อไป

ไฮไลต์สำคัญของทีโออาร์ใหม่ อาจเป็นการเปิดช่องให้ใช้ “ดุลยพินิจ” มากกว่า “ตรรกะตัวเลข” ที่มีหลักคิดและคำนวณผลประโยชน์ต่าง ๆ อย่างชัดเจน..ต่างจาก “ดุลยพินิจ” ที่สุ่มเสี่ยงนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งได้ง่ายขึ้น..!!

เพราะนั่นหมายถึงทุกอย่างจะไปขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ ตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และเรื่องนี้ดูเหมือนทั้ง “รฟม.-คมนาคม” จะเออออห่อหมก..รู้เห็นเป็นใจไปด้วยสิ.

โดยผู้บริหารรฟม.ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ครั้งนี้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ รถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ ต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ซับซ้อน เป็นการก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงเดินรถไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง

ดังนั้น ผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับ จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพเทคนิคและประสิทธิภาพการดำเนินงานของเอกชนเป็นสำคัญ มิได้มีเพียงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น..

ตอกย้ำด้วย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ที่การันตีว่า “เงื่อนไขทีโออาร์ใหม่สมเหตุสมผล ถูกกฎหมาย แม้ว่าแก้ไขหลังเปิดขายซองไปแล้วก็ตาม” ท่านรัฐมนตรีพูดซะขนาดนี้..คงไม่ต้องถามว่าเอกชนรายที่ร้องขอมา “ปึ้กขนาดไหน”..!?

แต่ก็น่าคิดนะว่า..ไอ้ตอนร่างทีโออาร์ครั้งแรกและทำประชาพิจารณ์..ทำไม๊..ทำไม..มันคิดเรื่องเทคนิคการก่อสร้างกันไม่ออกสักคน..จนปล่อยให้ประชาพิจารณ์และเปิดขายซองไปแล้ว ถึงค่อยจะมาคิดออกกัน..หรือคิดได้กันอยู่แล้ว แต่เอามาแก้ไขตอนที่ขายซองไปแล้ว..รู้แล้วนี่ว่าใครจะจับมือกับใคร..มัน “มัดมือชก” ได้ง่ายกว่า..ใช่หรือไม่.??

ก็ไม่รู้ซินะว่า..ทีโออาร์นี้แก้เพื่อใคร.!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button