พาราสาวะถี

จะมีลิ่วล้อหน้าโง่หรือคนโตในรัฐบาลกล้าที่จะเอาบทวิเคราะห์ของสื่อกระบอกเสียงรัฐบาลจีนเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย ที่กล่าวหาว่ามีชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง มาสร้างความชอบธรรมต่อการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือไม่ หากมีใครนำมาขยายความต่อ ก็จะเป็นการรับรองโดยดุษฎีว่า รัฐบาลที่อ้างว่ามาจากกระบวนการประชาธิปไตยนั้น แท้ที่จริงก็มีแนวคิดเผด็จการสุดโต่งนั่นเอง


อรชุน

จะมีลิ่วล้อหน้าโง่หรือคนโตในรัฐบาลกล้าที่จะเอาบทวิเคราะห์ของสื่อกระบอกเสียงรัฐบาลจีนเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศไทย ที่กล่าวหาว่ามีชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง มาสร้างความชอบธรรมต่อการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือไม่ หากมีใครนำมาขยายความต่อ ก็จะเป็นการรับรองโดยดุษฎีว่า รัฐบาลที่อ้างว่ามาจากกระบวนการประชาธิปไตยนั้น แท้ที่จริงก็มีแนวคิดเผด็จการสุดโต่งนั่นเอง

แม้จะมีความพยายามของคนในรัฐบาลใส่ร้ายป้ายสีการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรว่ายึดเอาแบบอย่างมาจากฮ่องกง แต่บริบทการปกครองของไทยกับเกาะที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนนั้นมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดการไปรับเอาแนวคิดที่ซึมซับมาเพราะตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมานั้น ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็แสดงออกให้โลกเห็นแล้วว่าแนบแน่นกับประเทศเผด็จการยักษ์ใหญ่ของโลกใบนี้อย่างไร มิเช่นนั้น คงไม่มีการซื้อเรือดำน้ำเพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านผู้นำจะพยายามแสดงออกถึงความผ่อนคลาย สบายใจหลังจากได้ใช้เวทีรัฐสภาแสดงปาหี่และเป็นที่ระบายเรียบร้อยแล้ว แต่ภายในจิตใจของคนที่มีสติปัญญาปกติย่อมรู้ตัวเองดีว่า เมื่อปัญหาการต่อต้านและขับไล่ยังไม่หมดไป ก็ย่อมมีทุกข์และต้องกล้ำกลืนฝืนทนกันต่อไป ภายใต้ใบหน้าเปื้อนยิ้มที่ไม่เป็นธรรมชาตินั้น ย่อมรู้ดีว่ามันเป็นยิ้มแห่งความสุขหรือเพื่อกลบเกลื่อนความเจ็บปวดที่แบกภาระหนักอึ้งอยู่บนบ่ากันแน่

จะว่าไปแล้วสถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะกับเรื่องที่เป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุม ในกรณีปฏิรูปสถาบันนั้น หากได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว เมื่อปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในยุคที่ตัวเองกุมอำนาจ ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย ไม่เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้ กับคำถามที่ว่า ท่านผู้นำควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบเหมือนพันท้ายนรสิงห์หรือไม่ เป็นประเด็นให้ชวนคิดอยู่ไม่น้อย

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในเมื่อกล้าประกาศว่าตัวเองมีภาระที่จะต้องทำให้จบ โดยที่ไม่ได้ขีดเส้นไว้ว่าต้องเมื่อไหร่ จะ 20 ปีตามยุทธศาสตร์ที่ขบวนการสืบทอดอำนาจได้วางไว้หรือไม่ คงไม่ต้องไปถามหาสปิริตใด ๆ อีกแล้วจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ สิ่งที่เป็นกังวลสำหรับคนไทยโดยทั่วไปที่ไม่ได้เลือกยืนอยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ย่อมห่วงว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่เช่นนี้ ปลายทางมันจะจบด้วยการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ แม้ว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพในเวลานี้จะเป็นเครือข่ายของขบวนการสืบทอดอำนาจก็ตาม

วิกฤติจากการชุมนุมในรอบนี้ไม่ได้เหมือนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อสีหรือแม้กระทั่งการชุมนุมสมคบคิดเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หากแต่เป็นการเคลื่อนไหวที่จี้ไปยังจุดซึ่งเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ขณะที่กรณีปฏิรูปสถาบันหากยึดเอาสิ่งที่ ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ว่า จะยกสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

เพราะตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้ง เราจะเห็นได้ว่ามีการใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม กรณีผังล้มเจ้ากำมะลอนั่นคือตัวอย่างสำคัญ และอีกหลายครั้งหลายหน ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันการขยับของฝ่ายขบวนการคนหนุ่มสาวสิ่งใดที่เป็นข้อความเห็นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามกระบวนการอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่ควรจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่จ้องจะนำไปสู่ความรุนแรง จนเกิดเป็นประเด็นกังขาว่ามีพวกโหนเจ้า ใช้สีเสื้อมาปกป้องตัวเองทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นไปในลักษณะนี้ มันจึงทำให้คนส่วนใหญ่มองไปยังจุดจบที่ว่าสุดท้ายจะหนีไม่พ้นสงครามกลางเมือง เลี่ยงไม่ได้กับการที่จะปะทะหรือทำร้ายทำลายกันของคนไทยด้วยกันเอง ยังดีที่ว่าฝ่ายคนหนุ่มสาวนั้นยังยึดกุมแนวทางที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นอย่างแข็งขันคือการไม่ปะทะ แต่ด้วยความที่สุดโต่งของอีกฝ่ายก็ไม่รู้ว่าจะมีความอดทนกันไปได้นานเท่าไหร่ ถ้าไม่มีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้นก็ต้องถือว่าเป็นความโชคดีของคนไทย

กรณีการเคลื่อนไหวโดยสงบนั้น พัชร์ นิยมศิลป จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ พูดบนเวทีเสวนาของแอมเนสตี้ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า กฎหมายระดับสากลรับรองเฉพาะการชุมนุมสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ องค์การสหประชาชาติรับรองเรื่องสังคมประชาธิปไตย เพราะมีการรับรองว่าประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ และสามารถสื่อสารแสดงความประสงค์เพื่อกดดันให้รัฐตอบสนองทางการเมืองได้ นั่นคือการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ขณะที่การการชุมนุมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ในการกดดันรัฐบาล ในสังคมประชาธิปไตย คุณค่าของการชุมนุมขึ้นกับ Worthiness คือความควรค่าแก่การชุมนุม Unity คือการแสดงออกร่วมกันถึงความสามัคคี Numbers คือปริมาณคน ซึ่งตอนนี้การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และถี่ขึ้น สุดท้าย Commitment คือการออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องบางอย่างที่ไม่ใช่เพียงอยู่บนโลกออนไลน์ จะสร้างการให้คำมั่นระหว่างผู้ชุมนุมได้มากกว่า

แน่นอนว่า การที่คนรุ่นใหม่ยึดมั่นต่อแนวทางการชุมนุมแบบสงบ สันติ ปราศจากอาวุธนั้น เพราะยึดหลักการที่ว่า เสรีภาพการชุมนุมเป็นบททดสอบว่าสังคมนั้นรับรองเสรีภาพอื่น ๆ ดีแค่ไหน เพราะการมาชุมนุมคุณต้องใช้เสรีภาพหลายอย่าง เช่น เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพการเดินทาง ซึ่ง “เสรีภาพการชุมนุมคืออาวุธของคนจนและคนอ่อนแอ” เมื่อรวมตัวกันทำให้ผู้มีอำนาจเกรงกลัว เมื่อเกรงกลัวแล้วจะเปิดช่องให้เกิดการเจรจาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่าง ซึ่งก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามและไม่ไว้วางใจว่า การเจรจาที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจพยายามอ้างนั้นจริงใจและเป็นไปได้แค่ไหน

Back to top button