พาราสาวะถี

แสดงให้เห็นธาตุแท้ของขบวนการสืบทอดอำนาจหัวหมอออกมากันอย่างต่อเนื่อง กับข้อเสนอล่าสุดจาก “ซามูไรกฎหมาย” ไพบูลย์ นิติตะวัน ให้ทำประชามติห้ามชุมนุมในช่วง 2 ปีเพื่อให้เวลารัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าไม่สุดโต่งและหน้าด้านจริงไม่มีความคิดที่น่าสมเพชเช่นนี้ออกมาอย่างแน่นอน ไม่ต้องพูดถึงข้อกฎหมายหรือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ใด ๆ เพราะคนเหล่านี้สามารถที่จะแถไถและใช้เครือข่ายที่มีโอบอุ้มกันไปได้


อรชุน

แสดงให้เห็นธาตุแท้ของขบวนการสืบทอดอำนาจหัวหมอออกมากันอย่างต่อเนื่อง กับข้อเสนอล่าสุดจาก “ซามูไรกฎหมาย” ไพบูลย์ นิติตะวัน ให้ทำประชามติห้ามชุมนุมในช่วง 2 ปีเพื่อให้เวลารัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าไม่สุดโต่งและหน้าด้านจริงไม่มีความคิดที่น่าสมเพชเช่นนี้ออกมาอย่างแน่นอน ไม่ต้องพูดถึงข้อกฎหมายหรือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ใด ๆ เพราะคนเหล่านี้สามารถที่จะแถไถและใช้เครือข่ายที่มีโอบอุ้มกันไปได้

แต่คำถามที่คนส่วนใหญ่จะย้อนกลับไปก็คือ ความจริงระยะเวลาเกือบ 6 ปีที่มีอำนาจเผด็จการอยู่นั้น ไม่มีม็อบใด ๆ แต่ก็ไม่มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ แล้วทำไมจึงจะต้องมาขอเวลาทำอะไรในช่วงนี้ และการทำประชามติเพื่อให้ศาสดาที่ตัวเองเทิดทูนบูชาได้อยู่ในตำแหน่งต่อ ไม่กังวลหรือเสียดายงบประมาณที่จะใช้ไปทำเหมือนตอนที่พูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยหรืออย่างไร ไม่น่าเชื่อว่าจะมีความคิดกันแบบนี้

จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเสียทีเดียว เพราะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่เคยยอมรับความเป็นจริงใด ๆ อยู่แล้ว กรณีการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามก็อ้างว่าทุกอย่างว่าไปตามกฎหมาย แต่มันก็เป็นกฎหมายที่ผู้ปฏิบัติเลือกจะใช้กับคนบางคนบางพวกเท่านั้น เห็นได้ชัดจากกรณีการจัดชุมนุม ที่ฝ่ายหนึ่งไล่จับไล่อายัดตัวกันรายวัน จนทำให้เห็นภาพว่ากำลังมีการใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งต้นมาเพื่อจัดการคนเห็นต่าง ขณะที่อีกพวกนอกจากไม่มีอะไรมาระคายผิวแล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้อีกต่างหาก

ดังนั้น ปากที่บอกว่าถอยคนละก้าวมันก็คือวาทกรรมลวงโลก เพราะตัวเองไม่ได้ถอยแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ ยังรุกไล่ คุกคามฝ่ายเห็นต่างอย่างไม่ลดละ แต่ก็อย่างที่เห็นม็อบเด็กไม่ได้หวาดกลัวหวั่นเกรงแม้แต่น้อย โดยเฉพาะข้อกังวลของฝ่ายสนับสนุนที่บอกว่าน่าจะลดเพดานข้อเรียกร้องลงบ้าง ทว่าระดับแกนนำหลักต่างประเทศเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีถอย นั่นเป็นภาพสะท้อนว่าคนเหล่านี้ได้ก้าวข้ามความหวั่นไหวต่อการดำเนินการจากฝ่ายกุมอำนาจไปแล้ว

ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงศักยภาพของทีมงานในการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับประเทศไทยมูลค่า 25,000 ล้านบาท ที่จะมีผลในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ คนในรัฐบาลต่างพูดไปในทำนองว่าไม่มีปัญหา ไม่ได้เสียหายอะไรมาก แสดงถึงความไม่รับผิดชอบ ไม่ใส่ใจต่อชะตากรรมของภาคเอกชนที่ต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่จะต้องแบกรับในอนาคต เข้าข่ายลอยแพเอาตัวรอดหน้าตาเฉย

สิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นผลพวงมาจากมาตรการตอบโต้ต่อการไม่ยอมทำตามข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯ แต่ก็เป็นการยืนยันความสามารถในการเจรจาต่อรองของฝ่ายบริหารประเทศได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะมีการประกาศตัดจีเอสพีนั้น ทางการมะกันมีการทิ้งช่วงเวลาเพื่อเปิดให้มีการต่อรองแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว คำถามที่ตามมาคือ มีการเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและเอกชนไทยมากน้อยขนาดไหน ถ้ามีความพยายามจริง มันไม่น่าจะลงเอยแบบนี้

ถ้าบริหารด้วยการบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของภาคเอกชน ที่จะต้องไปแก้ไขกันเอาเอง เช่นนั้นคงต้องบอกกันว่า แล้วจะมีรัฐบาลไปเพื่ออะไร นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความแตกต่างของผู้นำที่ไม่ใช่นักบริหารมืออาชีพ อาจจะเก่งในการสั่งให้ลูกน้องซ้ายหันขวาหัน แต่งานบริหารประเทศมันไม่ได้มีแค่นั้น และยิ่งชอบการรับฟังรายงานที่มีแต่เนื้อหาสอพลอ ยิ่งไปกันใหญ่ นอกจากจะไม่ได้รับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ยังอาจจะเข้าข่ายหูหนวกตาบอดไปได้เลย

นักบริหารมืออาชีพ แทนที่จะสั่งแล้วรอรับรายงานเพียงอย่างเดียว จะต้องติดตาม ตรวจสอบและบางอย่างต้องลงมือทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ด้วยตัวเอง แต่นี่อยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 6 ปี มีแต่ผลงานที่ทำกันในระบบราชการ อ้างอิงตัวเลขกันเพื่อความสบายใจ เหมือนอย่างล่าสุด กรณีที่บอกว่าผลสำรวจความยากจนของประชาชน พบมีการลดลงกว่าล้านคน แต่พอไปดูรายได้ที่บอกว่าหายจนคือ ยกระดับจาก 2 พันกว่าบาทมาอยู่ที่สามพันนิด ๆ ต่อเดือนถามว่ามันใช่หรือไม่

ลองไปเปิดข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติตัวเลขภาระค่าใช้จ่ายของคนไทยต่อเดือนอยู่ที่ 21,000 บาท ถามว่าเช่นนี้มันหมายถึงอะไร ไม่ใช่ว่าสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว แต่ข้อเท็จจริงมันเห็นกันอยู่แล้วว่า ขณะที่รายได้ของประชาชนขยับกันทีละนิด แต่ต้นทุนค่าครองชีพนั้นมันกระโดดไปถึงไหนต่อไหน เช่นนี้จะมาอ้างว่าทำให้คนหายจนได้แล้ว ช่างไม่กระดากกันเลยหรืออย่างไร ทั้งที่ก็รู้กันอยู่เต็มอกว่าตัวเลขที่เสกสรรปั้นแต่งกันกับความเป็นจริงนั้นมันสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

เหมือนอย่างกรณีความพยายามในการจะอัพตัวเลขจีดีพีของปีนี้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่หากมองจากสัญญาณเชิงบวกแล้ว แทบจะมีปัจจัยที่ทำให้กระเตื้องได้น้อย ก็เข้าใจได้ว่าเพื่อที่จะได้ไม่ไปกระทบต่อการนำตัวเลขจีดีพีไปคำนวณตัวเลขการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่อ้างว่ายังไม่เกินเพดานที่กำหนด ซึ่งถ้าหากยอมพูดความจริงกันก็จะรู้ว่า ตัวเลขที่นำมาอ้างกันเวลานี้ เป็นการใช้จีดีพีของปีก่อนหน้า ถ้านำเอาจีดีพี ณ ปัจจุบันมาคำนวณก็เข้าใจกันได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

เคาะแล้วรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ ชวน หลีกภัย ระบุมีสองทางเลือกคือ มีผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ 7 ฝ่าย กับรูปแบบที่มีคนกลางโดยประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง และสุดท้ายอาจจะนำทั้งสองรูปแบบมาผสมกัน ปัญหาก็คือ ฝ่ายชุมนุมกับฝ่ายค้านจะเข้าร่วมสังฆกรรมด้วยหรือไม่ เพราะท่าทีที่ไม่จริงใจของฝ่ายกุมอำนาจ ขณะเดียวกันหากเลือกใช้รูปแบบคนกลางที่มีคณะกรรมการ คำถามตัวโตก็คือ กรรมการที่จะไปทาบทามนั้นจะมีใครยอมรับเผือกร้อนหรือไม่ อย่างที่รู้กันตัวปัญหาคือผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกับรัฐธรรมนูญ ถ้าตัวปัญหายอมเสียสละก็เชื่อว่าทุกอย่างก็น่าจะคลี่คลายได้ทั้งหมด

Back to top button