DELTA และ GameStop

ตลาดหุ้นก็เป็นแบบนี้ เป็นเรื่องของ Zero-Sum Game มีผู้แพ้ และผู้ชนะ แต่นาน ๆ เราจะเห็นรายย่อยเป็นผู้ชนะกันสักที อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับ GameStop


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของหุ้น DELTA (ตลาดหุ้นไทย) และ GameStop (ตลาดหุ้นนิวยอร์ก)

DELTA เป็นหุ้นผลประกอบการดี

เพียงแต่ว่าราคา Over Value หรือเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานไปเยอะมาก

ปี 2563 ราคาหุ้นเดลต้าฯ วิ่งขึ้นมาถึง 808%

แต่หากนับจากต้นปี 2563 มาจนถึงราคาหุ้นเดลต้าฯ ที่เคยขึ้นไปสูงสุด 804 บาท ต่อหุ้น เมื่อวันที่  11 ม.ค. 64

หุ้นเดลต้าฯ พุ่งขึ้น มาถึง 1,400%

มีการดีดลูกคิดคำนวณกัน

ปีที่แล้วจากอภินิหารของหุ้นเดลต้าฯ ที่ราคาวิ่งร้อนแรง

มีส่วนต่อการดันดัชนีหุ้นไทยปี 63 ประมาณ 55-60 จุด และต่อเนื่องมายังเดือนมกราคม 2564 ก่อนจะถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ จับเป็นหุ้นเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย หรือ ติด “แคชบาลานซ์” (Cash Balance)

DELTA เป็นหุ้นที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อยค่อนข้างต่ำ

แม้ว่าจะเป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทว่า รายย่อยที่ถือหุ้นในเดลต้าฯ อยู่นั้น

น่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นนักลงทุนรายย่อยที่แท้จริง จนทำให้ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างกำลังพลิกหาวิธีจน “ฝุ่นตลบ” เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้

เมื่อหุ้นที่สัดส่วนฟรีโฟลตต่ำ

นั่นทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็น “เจ้ามือ” เข้ามาสร้างราคาหุ้นได้ง่าย

ผ่านมาจนถึงตอนนี้

ยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงได้ว่า การขึ้นและลงของหุ้นเดลต้าฯ ที่ถูกคำนวณอยู่ในดัชนี SET50 (เริ่ม 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 64) นั้น

มีความสัมพันธ์กับการลงทุนใน ตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX แค่ไหน ใครได้ประโยชน์บ้าง

เชื่อว่าประเด็นนี้ทางหน่วยงานกำกับด้านตลาดทุนน่าจะแกะรอยกันอยู่

ว่ากันว่า หุ้น เดลต้าฯ ถูกควบคุมโดยกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ตลาดอนุพันธ์”

กลุ่มที่สร้างราคาหุ้นเดลต้าฯ ถือว่ามีแผนแยบยลมาก

นอกจากจะได้ประโยชน์จากการสร้างราคาหุ้น สร้างมาร์เก็ตแคป จนเข้าไปติดในดัชนี SET50

เมื่อเข้า SET50 ได้ จะมีกองทุน Passive Fund ต้องเข้ามาซื้อตามน้ำหนักหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้น

ในช่วงต้นสิ้นเดือน ธ.ค. 63 ราคาหุ้นเดลต้าฯ อยู่ที่ 480 บาท ต่อหุ้น

เมื่อกองทุน Passive Fund  เข้ามาซื้อในช่วงต้นเดือนม.ค. 64 (ถูกบังคับซื้อจากการเพิ่มน้ำหนักใน SET50)  ราคาหุ้นเดลต้าฯ กลับวิ่งไปต่อ และขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 808 บาท

เชื่อว่าแรงส่งครั้งนี้น่าจะมาจากการเข้าซื้อของกลุ่ม Passive Fund ด้วย

และก็ไม่น่าใจว่า เมื่อราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นมาแบบช็อกโลกนี้

กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ (หัวดำ) สบช่องขายหุ้นออกมา (โดยมีกองทุนลากให้) หรือไม่ แล้วย้อนกลับมาซื้ออีกครั้งในภายหลัง

สรุปง่าย ๆ หุ้นเดลต้าฯ น่าจะถูกลากโดยนักลงทุนรายใหญ่ที่อาจจะมี “กองทุน” และ “รายย่อย” เป็นเหยื่อ

หรืออาจจะมีแค่เฉพาะรายย่อยก็ได้

มาถึงหุ้น GameStop ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกกันบ้าง

GameStop Corporation เป็นร้านขายวิดีโอเกม จดทะเบียนอยู่ใน New York Stock Exchange (NYSE)

ปี 2563 ธุรกิจของบริษัทตกต่ำลงอย่างหนัก

บรรดานักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนต่าง ๆ ต่างรู้ล่วงหน้าว่า ราคาหุ้นของ GameStop ต้องร่วงหนักแน่ ๆ

กองทุนจึงเริ่มทำการ “ขายชอร์ต” หรือไปยืมหุ้นชาวบ้านมาขายนั่นแหล่ะ

และจะมีการนำไปใช้คืนในภายหลัง

ดังนั้น หากราคาหุ้นยิ่งตกลงมาเยอะ  จะยิ่งได้กำไรมากแบบทวีคูณโน่นเลย

ทว่า หากราคาหุ้นวิ่งสวนขึ้นมา บรรดานักลงทุน หรือกองทุนที่ขายชอร์ตเอาไว้จะขาดทุนอย่างมหาศาล

มีรายงานระบุว่า การขายชอร์ตของกองทุนสำหรับ GameStop สูงถึง 80%

แต่เหนือฟ้าย่อมมีฟ้า นั่นก็คือบรรดานักลงทุนรายย่อยที่มาแบบเหนือเมฆ ต่างระดมหรือชักชวนผ่าน social ต่าง ๆ ให้ช่วยกันซื้อหุ้น GameStop และ stock options ของหุ้น GameStop

ผลที่ออกมาทำให้ราคาหุ้น GameStop ที่ควรจะวูบลง

กลับวิ่งขึ้นมากว่า 900% ในช่วงเวลาเกือบ 2 สัปดาห์

เมื่อราคาหุ้น GameStop วิ่งขึ้นมาแบบนี้

ทำให้กองทุนต่าง ๆ ที่ขายชอร์ตไว้ต่างขาดทุนกันถ้วนหน้า  แถมยังต้องไปไล่ซื้อหุ้น GameStop คืนอีก นั่นก็ยิ่งทำให้ราคาหุ้นยิ่งวิ่งขึ้นไปอีก (กองทุนก็ยิ่งขาดทุน)

เกมนี้รายย่อยสามัคคีกันมาก

เพราะเมื่อซื้อหุ้น GameStop กันไว้แล้ว ยังต้องสามัคคีกันที่จะไม่ขายออกมาด้วย

ก่อนหน้านี้ บรรดารายย่อยในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก็เหมือนกับตลาดหุ้นของไทย

ต่างถูกบรรดารายใหญ่ และกองทุนไล่ทุบ ไล่ต้อน จนหมดเนื้อ หมดตัวกันไป

นาน ๆ เราจะเห็นเกมที่รายย่อยเป็นฝ่ายคุม และวิ่งไล่ทุบกองทุนกันบ้าง

ตลาดหุ้นก็เป็นแบบนี้ เป็นเรื่องของ Zero-Sum Game มีผู้แพ้ และผู้ชนะ

แต่นาน ๆ เราจะเห็นรายย่อยเป็นผู้ชนะกันสักที

อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับ GameStop

Back to top button