พาราสาวะถีอรชุน

หลายคนที่สงสัยเกี่ยวกับจังหวะก้าวของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เหตุใดจึงไปร่วมกับคณะรัฐประหารและรัฐบาลคสช.ได้ ฟังการพูดในเวทีงานสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อประกาศขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีการเกณฑ์คนมาฟังประมาณ 6 พันกว่าคนแล้วจะได้คำตอบเป็นอย่างดี


หลายคนที่สงสัยเกี่ยวกับจังหวะก้าวของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เหตุใดจึงไปร่วมกับคณะรัฐประหารและรัฐบาลคสช.ได้ ฟังการพูดในเวทีงานสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อประกาศขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีการเกณฑ์คนมาฟังประมาณ 6 พันกว่าคนแล้วจะได้คำตอบเป็นอย่างดี

โดยสมคิดบอกว่า ตอนรัฐบาลประกาศนโยบายสร้างเศรษฐกิจรากฐาน มีสื่อฝรั่งเขียนวิเคราะห์ว่า นโยบายสร้างรากฐานเศรษฐกิจ ไม่ทำให้จีดีพีเติบโตได้ แต่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงจะช่วยได้ ฝากบอกให้ฝรั่งกลับไปเรียนหนังสือใหม่ด้วย ไม่เข้าใจประเทศไทยอย่าริอาจเสนอหน้า เรียกเสียงปรบมือจากผู้ร่วมฟังด้วยความชอบอกชอบใจ

อยากจะให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคำกล่าวในลักษณะเช่นนี้ไปตอบสื่อต่างชาติหรือผู้แทนนานาชาติบนเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติด้วย เพื่อคนทั้งโลกจะได้รู้ว่าประชาธิปไตยแบบไทยจะเดินไปบนเส้นทางใด จึงไม่แปลกใจที่สมคิดประกาศตัวว่า หลังจากหมดวาระร่วมรัฐบาลนี้แล้วจะไม่หวนคืนกลับสู่สนามการเมืองอีก

ขอให้จำคำพูดนี้ไว้ให้ดี เช่นเดียวกันในงานดังกล่าวเห็นท่วงทำนองของราษฎรอาวุโส ประเวศ วะสี พูดถึงนโยบายประชานิยมจำแลง ในการยกยอปอปั้นสิ่งที่สมคิดทำแล้ว ทำให้นึกถึงสำนวนไทยปากว่าตาขยิบหรือเกลียดปลาไหลกินน้ำแกงจริงๆ ก็คนเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่ตั้งข้อรังเกียจวิธีการของระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านหรือแม้แต่โอท็อป

แต่พอเปลี่ยนคนทำและชื่อเรียก กลับออกหน้าสนับสนุนเต็มที่ นี่แหละที่น่าจะเรียกว่า “สังคมดัดจริต” ของแท้ เช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามจะทำให้ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่ทำไปทำมากลายเป็นรูปแบบเผด็จการซ่อนรูปไปเสียฉิบ จนสุดท้ายต้องยอมตัดเนื้อร้ายสั่งคว่ำกันไปหน้าตาเฉย ชนิดคนที่ทำงานถวายหัวเสียศูนย์กันไปเลยทีเดียว

ขณะที่การตั้งต้นเริ่มกันใหม่ในนามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะมีสัญญาณชี้นำออกมาหลายประการ แต่การสรรหาคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ทั้ง 21 ราย ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนคราวคณะกรรมาธิการยกร่าง 36 คน เป็นภาพที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว รอบแรกมีแต่คนแห่เสนอตัว แต่หนนี้มีคนเซย์โนเสียส่วนใหญ่ ใครก็ไม่อยากเปลืองตัวและเสียคนเหมือนดอกเตอร์ปื๊ด

ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้การทำงานของผู้มีอำนาจและชาวคณะดูยากขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นเพราะการตั้งโจทย์ไปที่คนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร เป็นด้านหลัก ทำให้การทำงานจึงไม่สามารถก้าวข้ามพ้นการวางกฎเกณฑ์ กติกา ที่จะตีกรอบ จำกัดคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมันไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องถามว่า ถ้าผลออกมาเช่นนี้ต่างชาติจะยอมรับหรือไม่

ความเห็นของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในงานเสวนาครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่จัดโดยกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าผู้มีอำนาจยังก้าวไม่พ้นทักษิณ ยังมองว่ามีการรวมศูนย์อยู่ที่อดีตนายกฯ ทำให้มองต่อว่ามีแต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนไม่ดีและคนเสื้อแดงเป็นคนโง่ที่ถูกนายทักษิณหลอกมา แต่ลืมมองไปถึงการตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

อีกสิ่งที่ก้าวไม่พ้นคือ การแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยกำลังของทหาร ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาทางลัด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะคนจะมองว่าระบอบที่มาจากรัฐประหารไม่มีความเป็นกลาง มีผลต่อการกำหนดนโยบายบริหารประเทศ การก้าวพ้นจึงต้องมองว่า ไม่ว่าจะเข้ามาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ก็ยังอยู่ภายใต้อุดมการณ์หรือพรรคพวกตัวเอง

เมื่อเป็นเช่นนั้น 9 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้สังคมไทยก้าวพ้น แต่กลับทำให้ประเทศถอยหลังกลับไปสู่การแทรกแซงทางการเมือง เป็นการปฏิเสธความจริงว่าสังคมเปลี่ยนไป หลอกตัวเองว่าจะทำให้สังคมกลับไปเป็นแบบเดิม ประชาชนจะยอมรับโดยไม่ต่อต้าน แต่ต้องยอมรับว่าในอดีตกลุ่มอำนาจเก่าประสบความสำเร็จในการนำประชาชนออกไปจากอำนาจ

การมองข้ามปัญหาของประเทศให้มากกว่านักการเมืองหรือนายทักษิณ เป็นสิ่งที่กลุ่มเหล่านี้ไม่อาจยอมรับได้ เพราะจะทำลายความชอบธรรมในการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่ม จึงเกิดความพยายามทำให้สังคมไทยกลับไปเป็นเหมือนก่อนรัฐประหารปี 2549 ซึ่งการเลือกตั้งคือการประนีประนอมความขัดแย้งทางการเมือง การหาวิธีทำให้ประชาชนหันมาเลือกตนเองซึ่งจะแก้ไขความขัดแย้งทางชนชั้นได้

สอดรับกับความเห็นของ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่เห็นว่า จากความพยายามที่จะให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน ทำให้เกิดการทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนมาก เกิดการปลดนายกรัฐมนตรีหลายคน ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นการหักล้างมติของประชาชนโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

เกิดการทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยต่างๆ องค์กรอิสระถูกทำให้ขาดความเป็นอิสระและไม่เที่ยงธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรงด้วย ที่น่าสลดใจอย่างมากคือ รัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อนมีข้ออ้างอยู่ข้อหนึ่งคือ จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

แต่หลายปีที่ผ่านมาปรากฏว่าความขัดแย้งในสังคมไทยกลับยิ่งทวีความหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ ความขัดแย้งที่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพียงประการเดียวของการรัฐประหารครั้งล่าสุด 9 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในสภาพถอยหลังและย่ำอยู่กับที่ ไม่มีรัฐบาลใดสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิผล บ้านเมืองขาดเสถียรภาพและมีความขัดแย้งแตกแยกที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงไม่อาจจินตนาการได้ว่า หากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างสมบูรณ์ จะเกิดความเสียหายร้ายแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมาสักเพียงใด ที่แน่ๆ เราได้เรียนรู้ว่าเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นครั้งหนึ่งๆ นั้น สามารถมีผลเสียหายอย่างต่อเนื่องลึกซึ้งและยาวนาน ไม่ใช่แค่มีผู้ทำรัฐประหารผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกันกับหนนี้ที่ไม่รู้ว่าเมื่อบวกลบคูณหารแล้วจะสร้างประโยชน์มหาศาลหรือหายนะอย่างมหันต์กันแน่

 

Back to top button