หัวคิวคนกลาง ? #เซฟหมอบุญ

ไหนล่ะ! วัคซีนเต็มแขนประชาชน


ไหนล่ะ! วัคซีนเต็มแขนประชาชน

จับโป๊ะ” กันได้อีกเรื่องหนึ่งแล้ว กรณีอนุทิน ชาญวีรกูล ชี้แจงคำอภิปรายไม่ไว้วางใจของสส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ที่เรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนคุณภาพดีเพิ่มเติม นอกเหนือจากแอสตราเซเนกา-ซิโนแวค

อนุทินชี้แจงว่า เหตุที่ไม่สั่งซื้อวัคซีนเจ้าอื่น เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ก็เพราะได้ปรึกษาทีมงานกันแล้วว่า หากสั่งซื้อตอนนั้น ก็จะได้รับวัคซีนเข้ามาอย่างเร็วที่สุดราวไตรมาส 3

ซึ่งถึงเวลานั้น วัคซีน AZ จะมีเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนประชาชน และจะมีมากจนไม่พอเก็บ

นี่ก็ย่างเข้าเดือนแรกของไตรมาส 3 แล้วไง! ยังไร้วี่แวว “ม้าตัวเดียว” AZ ก็ดันไม่มาตามนัด จากเป้าเดือนละ 10 ล้านโดส ส่งให้ได้แค่ 5 ล้านโดสเท่านั้น

ส่วนวัคซีนซิโนแวคที่คุณภาพต่ำ ก็ดัน “มั่วนิ่ม” สั่งเพิ่มเข้ามาอีก 10.9 ล้านโดสเสียอีก หลังจากนำเข้ามาแล้ว 10 ล้านโดส ไม่รู้เพราะต้องการขายผ้าเอาหน้ารอด หรือมีพันธกิจพิเศษอะไรกับวัคซีนเจ้านี้หรือเปล่า

บริหารงานกันด้วยมโนทัศน์ที่ “คิดเอง เออเอง” โดยแท้ แต่ความเป็น ความตายของประชาชนและเศรษฐกิจที่พังพินาศ เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ล้อเล่น

ก่อนหน้านี้ก็โดน “จับโป๊ะ” เรื่องส่งร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาไปที่อัยการแล้ว แต่อัยการออกมาแฉว่า ไม่มีร่างสัญญาใดส่งถึงมืออัยการเลย อัยการโวยเช้า ตกบ่ายร่างสัญญาก็เดินทางจากองค์การเภสัชฯ มาถึงทันใจตอนช่วงบ่าย

 นี่ก็คือแบบฉบับคำโกหกขอไปที ปราศจากความจริงใจจะซื้อ ทั้งที่ผู้ควักตังค์เป็นโรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลสักหน่อย

ไม่รู้ว่าองค์การเภสัชกรรมหรือ อภ.รู้สึกเสียหน้า ต้องการ “แก้แค้น” เอาคืนหรืออย่างไร จึงได้ออกแถลงการณ์เรื่อง แจ้งความเอาผิดนพ.บุญ วนาสิน ประธาน บมจ.ธนบุรี เฮ้ลท์ แคร์ (มหาชน) หมิ่นประมาท เป็นเหตุให้ อภ.ได้รับความเสียหาย…

กรณีเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา

ผมว่างานนี้ กองเชียร์คุณหมอบุญมาตรึมแน่ แฮทช์แท็ก #SAVE หมอบุญ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 โดยรวดเร็ว ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งคือ อภ.ก็ทัวร์ลงตามระเบียบ จนต้องปิดเพจแสดงความคิดเห็นในเวลาต่อมา

แค้นที่ 1 ก็คงจะเริ่มจากคุณหมอบุญให้สัมภาษณ์ดัง ๆ กับสื่อว่า ได้ติดต่อหาเพื่อนฝูงที่เป็นผู้บริหารไฟเซอร์-โมเดอร์นา ทำไมไม่ยอมขายวัคซีนให้ประเทศไทย ทางโน้นก็ตอบกลับมาว่า ไม่ได้รับคำสั่งซื้อใด ๆ จากรัฐบาล อัยการออกมาแฉอีกทีก็ “วงแตก”

แค้นที่ 2 ก็คงจะเป็นเรื่อง นพ.บุญให้ข่าวต่อสื่อมวลชนถึง “ห่วงโซ่ราคา” วัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชนเข็มละ 1,650 บาท นั่นแหละ โดยมีต้นทุนของ อภ.และราคาขายให้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมี “ส่วนต่าง” มากพอสมควร

โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา (ประเทศไทย) ขายให้ อภ.โดสละ 584 บาท อภ.เอาไปขาย รพ.เอกชน 1,100 บาท เกิดส่วนต่าง 516 บาท รพ.เอกชนกำหนดราคาค่าบริการเข็มละ 1,650 บาท มีส่วนต่าง 550 บาท

ผมว่า  “ชนวนเดือด” ก็คงจะอยู่ที่ “ส่วนต่าง” ขององค์การเภสัชฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ควรจะมี “มาร์จิ้นสูง” เฉกเช่นเดียวกับหน่วยงานเอกชนด้วยหรือ

ซึ่งถ้า รพ.เอกชนนำเข้าผ่าน “ตัวกลาง อภ.” จำนวน 5 ล้านโดส ก็จะมีส่วนต่างกำไรเบื้องต้นรวม 2,580 ล้านบาท ต้นทุนก็คงจะมีอยู่บ้าง แต่จะมากขนาดนี้เชียวหรือ

แทนจะเลือกใช้การชี้แจงกันดี ๆ แต่องค์การเภสัชฯ กลับเลือกเอาการฟ้องร้อง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศร่วมแรง ร่วมใจต่อสู้ภัยโรคระบาดโควิดเลยสักนิด

ต้องอย่าลืมว่า นายแพทย์บุญก็เป็นหมออาวุโสที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง เป็นผู้บุกเบิกโรงพยาบาลเอกชนรุ่นต้น ๆ และก็ยังเป็นคณะกรรมการจัดหาวัคซีนภาคเอกชนคนหนึ่งด้วย การเปิดเผยตัวเลขต่าง ๆ ก็คงจะมีพื้นฐานมาจากวงประชุมนั่นแหละ

ผมก็เห็นหมอบุญท่านให้สัมภาษณ์ในเชิง “แฟคท์” หรือข้อเท็จจริงดี ๆ ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ใส่สี ใส่ไข่ แต่เหตุใดจึงเกรี้ยวโกรธอะไรกันนักหนา

ถ้าไม่มีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้น จะดิ้นพล่านไปฟ้องร้องทำไม

ระวังจะหน้าแหกเอา หากมีการขออำนาจศาลให้เปิดเผยสัญญาซื้อขายวัคซีนต่าง ๆ

Back to top button