PTT ไม่อยากตาย ก็ต้องโต

เมื่อ 14 ปีก่อน ผมเคยเขียนหนังสือเล่มชื่อ ปตท. ไม่อยากตาย ก็ต้องโต เอาไว้ แล้วขายไปหมดแล้ว ไม่มีการพิมพ์ซ้ำอีก


เมื่อ 14 ปีก่อน ผมเคยเขียนหนังสือเล่มชื่อ ปตท. ไม่อยากตาย ก็ต้องโต เอาไว้ แล้วขายไปหมดแล้ว ไม่มีการพิมพ์ซ้ำอีก

เหตุผลคือ กลุ่ม ปตท.วันนี้มีขนาดใหญ่มากกว่าตอนนั้นมากกว่า 5-6 เท่า เรียกได้ว่า ใหญ่เกินกว่าที่จะพึ่งพาแหล่งรายได้จากในประเทศเป็นหลักแบบเดิม ๆ ตามแบบโมเดลธุรกิจเก่า ๆ ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ดังเช่นที่เคยเกิดกับบริษัทแห่งชาติในอิหร่าน นอร์เวย์ หรือ ซาอุดิอาระเบีย หรือ เวเนซูเอล่า

ที่สำคัญการปรับโครงสร้างให้ PTT กลายเป็นบริษัท purely holding company เมื่อต้นปีนี้ โดยตัดให้ OR แยกออกไปเป็นกิจการต่างหาก ทำให้ PTT มีความใกล้เคียงกับ INTUCH มากขึ้นทุกขณะ

ผลลัพธ์คือ เกิดความคล่องตัวอย่างยืดหยุ่นในการบริหารจัดการของบริษัทใต้ร่มธงอย่างมีนัยสำคัญ

7 เดือนแรกของปีนี้ เครือข่ายบริษัทใน กลุ่ม ปตท.กระหน่ำลงทุน 3.4 แสนล้าน โดยมีแกนสำคัญ ที่ต้องบันทึกเอาไว้คือ

  • การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการควบรวมกิจการ M&A เดิมที่มีอยู่แล้ว หรือการใช้วิศวกรรมการเงินเพื่อการเติบโตทางลัด หรือ inorgamic growth
  • ธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจแนวดิ่ง เช่น กิจการพลังงานทางเลือก ไฟฟ้า และ ปิโตรเคมี ถือว่าเป็นการรุกอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่สะเปะสะปะจนอาจจะสร้างปัญหาในอนาคต
  • การรุกทางธุรกิจที่เกิดขึ้น กระทำในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ทำให้การกระจายความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และพ้นข้อหาผูกขาดธุรกิจไปได้งดงาม

การประกาศร่วมทุนและซื้อกิจการของกลุ่มบริษัท ปตท.มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นเดือนที่มีดีลการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำในต่างประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสูงมาก แม้ว่าการเจรจาทำได้ยาก การเดินทางทำได้ลำบากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ตาม

การลงทุนในยามที่ธุรกิจเดิมเป็นขาลง ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าปกติเสมอ ทำให้สามารถกลับมาทำกำไรมากในยามเศรษฐกิจกลับเป็นขาขึ้น และยังเป็นการเตรียมความพร้อมยามธุรกิจน้ำมัน-ปิโตรเลียมเป็นขาลงในอนาคต ถือเป็น การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

บทบาทของบริษัทแม่ที่เป็นโฮลดิ้ง ที่กำกับทิศใหญ่ และพร้อมสนับสนุนด้านการเงินอย่างเต็มที่ อัดฉีดให้เงินกู้ให้บริษัทใต้เครือข่ายอย่าง GPSC และ PTTGC เพื่อใช้ในการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) รวมแล้วเฉียด 1 แสนล้านบาท รวมทั้ง ใช้เงินตั้งบริษัทร่วมทุนและตั้งบริษัทย่อยทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นเงินลงทุนราว 3.4 แสนล้านบาท จะทำให้อนาคตของ PTT มีรายได้จากการรับรู้ผลพวงของรายได้หลักจากบริษัทในร่มธงแบบ INTUCH ที่ส่งผลให้ อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ

ความน่าสนใจของการลงทุนเครือข่าย ปตท. ในไต้หวัน (โรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่ง) และอินเดีย (โรงไฟฟ้าโซลาร์) และ จีน (โรงงานผลิตแบตเตอรี่) ยังเป็นการลงทุนเพื่อการเรียนรู้ในอนาคตในสิ่งที่ไม่ถนัดมาก่อน โดยถือหุ้นส่วนน้อย ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง

ด้าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ก็ไม่น้อยหน้าบริษัทในเครือฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่นอินดัสทรี จำกัด หรือฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและส่วนประกอบหลักต่าง ๆ แบบ end-to-end เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ทั้งหมดนี้คงจะไม่ผลิดอกออกผลในเร็ววัน แต่ถือเป็นทิศทางที่ต้องลุ้น และเอาใจช่วย

เพราะ ปตท.ในอนาคต ไม่ตายแน่ แต่จะโตแบบไหนเท่านั้น

Back to top button