พาราสาวะถี

อะไรคือหดเวลาเคอร์ฟิวให้สั้นลงจากเดิม เป็นสี่ทุ่มถึงตีสี่ ในแง่ของการควบคุมโรคแล้วไม่ได้สำคัญ หนำซ้ำ เป็นปัญหาสำหรับคนที่ทำมาหากินด้วยซ้ำ


วันนี้ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ตามรายงานข่าวและเป็นที่ยืนยันแน่นอนแล้วว่า มีการเสนอให้ต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือนคือถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และเรื่องเดิมที่เคยคิดกันไว้ก่อนหน้านี้แต่ดูท่าไม่มีประโยชน์อะไรคือหดเวลาเคอร์ฟิวให้สั้นลงจากเดิม 3 ทุ่มถึงตีสี่ เป็นสี่ทุ่มถึงตีสี่ ซึ่งถ้ามองในแง่ของการควบคุมโรคระบาดแล้ว เงื่อนเวลาเช่นนี้ไม่ได้มีนัยอะไรสำคัญ มิหนำซ้ำ ยังเป็นปัญหาสำหรับคนที่ทำมาหากินเสียด้วยซ้ำไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น หมายความว่าร่างพ.ร.ก.แก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ยังจะไม่มีผลบังคับใช้ และจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปนั้นไม่ได้เพื่อเป้าหมายในการควบคุมโรคแต่เพื่อคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านนั่นเอง ยิ่งในสถานการณ์ที่การเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจกำลังระส่ำระสายอยู่เช่นนี้ หากปล่อยฟรีไม่มีกฎหมายพิเศษมากดทับ มีหวังอุบัติเหตุทางการเมืองที่กลัวกันจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม การประชุมศบค.ชุดใหญ่ นอกเหนือจากการยืดอายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญที่จะนำเสนอให้เคาะกันเพื่อรองรับคำประกาศิตของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเรื่องการเปิดประเทศก็คือ การเสนอปรับลดระยะเวลาในการกักตัวในสถานที่กักกันของรัฐ ประเด็นนี้เคยตั้งท่ากันมานานก่อนการระบาดระลอกสองในเดือนธันวาคมปีที่แล้วเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อตั้งธง “ต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้” และต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อหวังเม็ดเงินมหาศาล ก็จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับ

ทั้งนี้ การลดวันกักตัวดังกล่าว ก็มีเงื่อนไขที่ต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ว่ารับได้หรือไม่ แต่การเดินเกมกันแบบนี้คงไม่ต้องฟังแล้วว่าจะคิดกันแบบไหน โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในทุกช่องทางที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 6-7

ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศซึ่งโดยสารมาทางเครื่องบิน และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง และวันที่ 8-9 ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางช่องทางบก และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 0-1 ครั้งสองวันที่ 12-13 ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้

แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่ายและเป็นการดึงจังหวะรอเรื่องการฉีดวัคซีนของประชาชนในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่นำร่องกล่องทรายหรือแซนด์บ็อกซ์ 5 จังหวัดต้องให้มีจำนวนเกินกว่าร้อยละ 70 เสียก่อน จึงมีรายงานว่าที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่จะมีการพิจารณาข้อเสนอให้เลื่อนการเปิดพื้นที่ Sandbox ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เตรียมให้ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่นำร่อง เปิดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ขยับไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายนแทน ซึ่งมีภาคเอกชนบางพื้นที่ก็ได้เสนอมาแบบนี้เหมือนกัน

ไม่ว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร ด้วยความเห็นของหมอการเมืองประชาชนก็จะเป็นแค่ตัวประกอบไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใด ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมที่ควรต้องหันมาช่วยกันดูแลเอาใจใส่ตัวเอง ดังที่ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แนะไว้ล่าสุด ความใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว จะเป็นปัจจัยหลักในเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยจากโรค ใส่ใจมากความเสี่ยงก็น้อย ใส่ใจน้อยความเสี่ยงก็มาก

ในมุมของคุณหมอที่แนะให้ประชาชนให้ความสนใจ ใส่ใจต่อสุขภาพของตัวเองและครอบครัวนั้น เป็นเพราะสภาพแวดล้อมในสังคมซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายที่มุ่งเน้นการเปิดเศรษฐกิจนั้นความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยสัมพันธ์กับลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ขณะเดียวกันก็ยังมีความสับสนเรื่องวัคซีน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จัดให้มีชนิดวัคซีน และวิธีการใช้ที่หลากหลาย แปลก แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่

ในขณะที่ข้อมูลวิชาการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วและเป็นที่ยอมรับนั้น ยังคงไปในแนวทางของประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวคือใช้วัคซีนกระแสหลัก ส่วนการไขว้นั้นมีการยอมรับเพียงบางชนิด เช่น ChAdOx vaccine เข็มแรกต่อด้วย mRNA vaccines เข็มสอง ที่กระตุ้นระดับภูมิได้ดี แต่จะมีอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าการฉีดชนิดเดียวกันทั้งสองเข็ม การเข้าถึงวัคซีน และการตัดสินใจเลือกใช้วัคซีนให้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งชนิด และวิธีการฉีด สำหรับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยจากโรค

แน่นอนว่า สิ่งที่จะเรียกว่าถูกต้องเหมาะสมได้ คงหนีไม่พ้นการใช้ข้อมูลวิชาการแพทย์ที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ และชั่งน้ำหนักเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น จึงต้องไตร่ตรองตัดสินใจให้ดี ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญคือ การเข้ามาของวัคซีนทางเลือก ที่เป็นวัคซีนกระแสหลักอย่าง mRNA vaccine คือ Moderna รวมถึงวัคซีนตัวอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพดี เช่น Protein subunit vaccine ของ Novavax และ Ad26 vaccine ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

วัคซีนเหล่านี้หากเข้ามา และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ จะช่วยลดความเสี่ยงระดับบุคคลและครอบครัวของกลุ่มที่เข้าถึงวัคซีนไปได้มาก บทสรุปของคุณหมอธีระก็คือ ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และต้นปีหน้า สภาวะแวดล้อมในสังคมจะมีความเสี่ยงสูง การที่ประชาชนแต่ละคนจะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตได้นั้น ปัจจัยในส่วนของประชาชนมีแค่ความใส่ใจสุขภาพเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ขณะที่อีกสองปัจจัยคือการตัดสินใจรับวัคซีนทั้งชนิดและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมโดยใช้ความรู้ที่ถูกต้อง และศักยภาพของคนที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนกระแสหลักของสากลที่เป็นวัคซีนทางเลือกของประเทศ เป็นเรื่องความสามารถและการตัดสินใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะว่า จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง หรือยังคงพล่านกับการแก้ไขและแก้ตัวต่อสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจและบริหารผิดพลาดล้มเหลวก่อนหน้านั้น

Back to top button