พาราสาวะถี

ทุกคนจะต้องอยู่ร่วมกับโรคให้ได้ เพื่อเป้าหมายการเปิดประเทศตามที่ท่านผู้นำได้เคยประกาศไทม์ไลน์ไว้ใน 120 วันที่จะครบกำหนดในวันที่ 14 ตุลาคมนี้


สรุปว่าจะต้องเอาให้ได้ ทำให้เกิดตามความประสงค์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจใช่หรือไม่ กับท่าทีของบรรดาหมอการเมืองทั้งหลาย ที่พยายามจะโน้มน้าว ปฏิบัติการณ์ไอโอให้ประชาชนเชื่อให้ได้ว่า แม้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เวลานี้ยังอยู่ในหลักหมื่นรายต่อวันหย่อนหมื่นบ้างเป็นบางวัน ถือว่าสถานการณ์ของประเทศน่าไว้วางใจแล้ว ทุกคนจะต้องอยู่ร่วมกับโรคให้ได้ เพื่อเป้าหมายการเปิดประเทศตามที่ท่านผู้นำได้เคยประกาศไทม์ไลน์ไว้ใน 120 วันที่จะครบกำหนดในวันที่ 14 ตุลาคมนี้

ไม่เพียงแค่ความพยายามในการที่จะสร้างกระแสเพื่อให้ทุกคนยอมรับ โดยตัวเลขของวัคซีนที่เร่งฉีดทั้งที่จนถึงเวลานี้มีประชาชนที่ฉีดครบสองเข็มไปเพียงแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการเร่งรัดที่จะให้มีการเปิดเทอมโดยเร็วภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ด้วยมาตรการเร่งฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-17 ปี และอ้างมาตรการที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกันวางแผนมา จะสามารถทำให้เด็กกลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนได้

ทั้งที่เมื่อถามย้ำกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจะไปเรียนได้อย่างไร ก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อบุคลากรทางการศึกษาได้วัคซีนครบร้อยเปอร์เซ็นต์ และผู้ปกครองได้รับวัคซีนครบแล้ว ก็จะช่วยทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อน้อยลง ทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการบริหารจัดการของทางโรงเรียนและหน่วยงานในพื้นที่ที่จะต้องประสานความร่วมมือกันอย่างเคร่งครัด แต่กลับไม่ยักบอกว่าแผนปฏิบัติการที่จะใช้นั้นมีอย่างไร ไม่แจกแจงให้ชัดว่าขั้นตอนหนึ่ง สอง สามสี่เป็นแบบไหน

ขณะเดียวกัน การอ้างว่าครู บุคลากรในโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครองได้รับวัคซีนแล้วจะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กได้รับเชื้อได้ด้วยนั้น มองมุมไหนก็ไม่น่าจะสมเหตุสมผล เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกับประเด็นที่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่ใช้ไม่ได้กับโควิด-19 เหตุภูมิต้านทานกันติดเชื้อได้ไม่สมบูรณ์

โดยที่หมอยงมีคำอธิบายว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ หมายถึง เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อ จะช่วยลดการระบาดและปกป้องผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้ ความหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรคโควิด-19 ในระยะเริ่มแรกที่มีวัคซีน โดยคาดการณ์กันว่าถ้าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 70 ก็จะหยุดการระบาดของโรคได้ แต่ความเป็นจริง ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถใช้ได้กับโรคโควิด-19

สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 80% โรคก็ยังระบาดอยู่ เช่นเดียวกันกับที่อิสราเอล โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่ได้ประกาศนโยบายให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดได้ ต้องหันกลับมาใช้มาตรการเข้มข้นเหมือนเดิม ความหมายของหมอยงต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็คือไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้

เพียงแต่ว่าวัคซีนจะไปช่วยลดความรุนแรงของโรคให้น้อยลง ไวรัสเองยังเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่จะหลบหลีกต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ถ้ามีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้ออาการจะลดน้อยลงหรือไม่มีอาการ การติดเชื้อครั้งแรกในคนที่ไม่มีภูมิต้านทานจะรุนแรงที่สุด และจะสร้างภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อในครั้งต่อไปให้มีอาการลดน้อย และจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนเป็นเหมือนโรคทางเดินหายใจแบบปกติ

โดยที่หมอยงส่งท้ายว่า ทุกคนควรได้รับวัคซีนให้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง ด้วยการฉีดวัคซีนทุกคน แต่คำถามที่เกิดขึ้นต่อการจะเปิดเรียนโดยให้เด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนไปอยู่รวมกัน จากเหตุผลที่ว่าคนแวดล้อมได้รับวัคซีนแล้วปลอดภัยในระดับหนึ่ง กับการใช้มาตรการทางสาธารณสุขกำกับดูแลมันจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองได้ขนาดไหน และหากเกิดการติดเชื้อ เป็นคลัสเตอร์ในโรงเรียนขึ้นมาถามว่าใครจะรับผิดชอบและรับผิดชอบกันอย่างไร

กรณีของวัคซีนไฟเซอร์ที่ระดมฉีดให้กับเด็กกลุ่มเป้าหมายนั้น ก็ยังมีข้อคลางแคลงใจต่อผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น จนทำให้ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมให้ลูกหลานเข้ารับวัคซีนดังกล่าว เรื่องนี้ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “มันเป็นความเสี่ยง แม้ว่าจะมีคนบอกว่าน้อยก็ตาม แต่มันอาจจะเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในกลุ่มผู้ปกครอง”

มันจึงตามมาด้วยคำถามที่เป็นข้อเสนอแนะ นั่นก็คือครอบครัวของเด็กมีสิทธิที่จะแสดงความกังวลได้ ดังนั้นราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้เสนอทางออก และตนก็เห็นด้วยว่าเหตุใดไม่ฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กแทน เพราะวัคซีนเชื้อตายมีความปลอดภัยกว่า และหากต้องการให้มีความปลอดภัยสูงที่สุดคือ การฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใดก็ตาม หากจะฉีดวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนฟาร์ม ก็อาจจะเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2

แต่วัคซีนซิโนฟาร์มนั้นไม่เก่งที่จะครอบคลุมโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า และเดลต้าได้ดี ดังนั้นอาจมีการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย วัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ซึ่งกระบวนการนี้เด็กจะได้รับความปลอดภัยสูงสุด แน่นอนว่าความเห็นของหมอธีระวัฒน์น่าจะเป็นตัวช่วยหนึ่งสำหรับผู้ปกครองที่จะตัดสินใจ เพราะฝ่ายโพนทะนาให้เด็กแห่ไปฉีดก็อ้างตลอดว่าข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านโซเซียลมีเดียนั้นเป็นเฟคนิวส์ เชื่อถือไม่ได้

ข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้ปกครองในความเห็นของหมอธีระวัฒน์ก็คือ ไม่ให้ความมั่นใจเลย สำหรับวัคซีนทางเลือกดังกล่าว เพราะความจริงมีทางออกที่ทำให้มั่นใจว่าเด็กจะได้รับความปลอดภัยสูงสุดก็คือ การฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายเข้าชั้นผิวหนังก่อน และตามด้วยวัคซีนทางเลือกเป็นเข็มที่ 3 ให้แก่เด็ก ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ออกแถลงการณ์เองว่า เป็นความยินยอมของผู้ปกครองเอง ซึ่งผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องของผู้ปกครองที่จะตัดสินใจ มีทั้งชวนเชื่อให้ฉีดและปกป้องตัวเองต่อผลที่จะตามมาด้วย เฮ้อ!

Back to top button