ทองแท้ไม่กลัวไฟ

ตัวเลขที่ส่งสัญญาณขาขึ้นรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลก เริ่มชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง เป็นข่าวดีสำหรับตลาดหุ้น และหุ้นที่รับอานิสงส์ขาขึ้นเต็มที่


ตัวเลขที่ส่งสัญญาณขาขึ้นรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลก เริ่มชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง เป็นข่าวดีสำหรับตลาดหุ้น และหุ้นที่รับอานิสงส์ขาขึ้นเต็มที่

เริ่มกันตั้งแต่ดัชนีดาวโจนส์ และS&P 500 ในวอลล์สตรีทที่เริ่มท้าแนวต้านทำนิวไฮบ่อยครั้งขึ้น ตามมาด้วยสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัว และการปรับท่าทีขององค์การการค้าโลกที่ปรับเพิ่มปริมาณการค้าโลกขึ้นเป็น 10% จากเดิม 8%

ขณะเดียวกันยอดการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยที่เติบโตรุนแรงในเดือนล่าสุด ยิ่งบอกถึงกระแสขาขึ้นของการฟื้นตัวที่ชัดเจน

แนวต้านของดัชนีตลาดหุ้นไทย 1,650 จุด น่าจะพังทลายในไม่กี่วันข้างหน้าซึ่งไม่ใช่ปาฏิหาริย์อะไรเลย แม้ว่าความไม่มั่นใจในความโลภของตนเองจะยังทำให้นักลงทุนยังต้องขายทำกำไรเป็นระยะ ๆ ทำให้ดัชนีแกว่งตัวไซด์เวย์ขาขึ้นอย่างช้า ๆ ก็ตาม

ตัวเลขล่าสุดในช่วง 9 เดือนของกระทรวงพาณิชย์ไทยที่ออกมาบอกว่าการส่งออกเดือนกันยายนยังคงโต 17.1% มีมูลค่าส่งออก 23,036 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 17.1% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 22,426 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 30.3% ส่งผลให้ในเดือนนี้ไทยเกินดุลการค้า 610 ล้านดอลลาร์

ขณะที่การส่งออกของไทยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 199,997 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 197,980 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรก ไทยเกินดุลการค้า 2,017 ล้านดอลลาร์

การส่งออกของไทยเดือนกันยายน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกในเดือนก.ย. 64 ก็ยังขยายตัวได้ 14.8% โดยการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย จากภาคการผลิตที่ฟื้นตัว การกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 และการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ดี

สำหรับสินค้าสำคัญใน 5 อันดับแรก ที่ช่วยผลักดันการส่งออกได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 114.4% ยางพารา ขยายตัว 83.6% เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 55.8% เม็ดพลาสติก ขยายตัว 40.3% และคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.6%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ 15.8% คิดเป็นมูลค่า 18,424 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวสูงได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัว 61%, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 38.7%, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ ขยายตัว 32.8%, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.6% และแผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 16.3%

ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ไทยนั้น อาจจะไม่มีการพูดถึงสินค้าบรรจุภัณฑ์โดยตรง แต่ข้อเท็จจริงจากผลประกอบการของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด หรือ SCGP ที่ดีกว่าคาดมากมายชนิดหักปากกาเซียน ก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าขาขึ้นของธุรกิจบรรจุภัณฑ์นั้นมาถึงแล้ว

เดิมทีนั้น นักวิเคราะห์มีมุมมองคล้ายกันว่า ไตรมาสสามของปีนี้ SCGP จะมีรายได้และกำไรที่ทรงตัวเข้าข่ายพักตัวชั่วคราวหลังจากที่เติบโตเกินคาดมาหลายไตรมาสต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่สุดของอาเซียนไปแล้ว จากกลยุทธ์การควบรวมกิจการที่เริ่มให้ผลทันทีในสามเดือนที่ผ่านมา

แม้จะคาดหมายว่า ผลประกอบการที่เคยโดดเด่นจะเริ่มทรงตัวในช่วงไตรมาสที่สามจนส่งผลต่อราคาหุ้นให้แน่นิ่งที่ระดับ 60.00-61.00 บาทยาวนานนับเดือน การที่ถูกนักวิเคราะห์บางสำนัก ลดประมาณการกำไรลงไปมากจากระดับ 78.00 บาท เหลือ 70.25 บาท เนื่องจากคาดหมายว่ากำไรสุทธิไตรมาสสามของ SCGP จะอยู่ที่ 1.58 พันล้านบาท จากการที่รายได้ลดลงเหลือ 2.73 หมื่นล้านบาทโดยเฉพาะในเวียดนาม แต่บทวิเคราะห์ดังกล่าวถือว่าผิดพลาด เพราะงวดไตรมาสสาม ยังสามารถรักษาอัตราเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีรายได้ช่วง 9 เดือนแรก 89,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 6,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 15,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กำไรช่วง 9 เดือนแรกที่ต่ำกว่ากำไรตลอดทั้งปีของปีก่อนเพียงเล็กน้อยสะท้อนว่าตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศและการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป และภูมิภาคอื่น ๆ ส่งผลดีต่อความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนานวัตกรรมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

ในสิ้นงวดไตรมาสที่สี่นี้ คาดว่าจะส่งผลให้รายได้รวมทั้งปีของ SCGP น่าจะเกิน 1 แสนล้านบาท จากการที่บริษัทฯ ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนตามแผนกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีปิดดีลการเข้าควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) รวม 3 ดีลได้แก่ กิจการบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์อาหาร และบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป ที่มีฐานการผลิตในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย และมีดีลซึ่งคาดว่าจะปิดได้สำเร็จในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ด้วยการเข้าถือหุ้นในบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงในประเทศสเปน นอกเหนือจากได้ดำเนินการสร้างการเติบโต (Organic Expansion) ด้วยงบการลงทุน 11,793 ล้านบาท ด้วยการสร้างฐานการผลิตใหม่ทางตอนเหนือของเวียดนาม และศึกษาโอกาสทางการตลาดทางตอนใต้ของประเทศจีน เพื่อเติบโตในปีหน้าให้สมกับการ “ตีเหล็กเมื่อร้อน” นั่นเอง

กำไรสุทธิของ SCGP ในสิ้นปีนี้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงน่าจะมากกว่า 8.5 พันล้านบาท เติบโตมากกว่า 25% แม้จะยังถือว่าอัตรากำไรสุทธิยังต่ำอยู่ น่าจะส่งผลต่อการจ่ายปันผลทำให้นักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายใหม่ที่ล่าสุดไปที่ 75-80 บาท

จะเป็นไปได้หรือไม่ อีกไม่นานคงรู้กัน

ทราบกันเพียงว่ายามนี้ราคาหุ้นนี้ปรับขึ้นทุกวันต่อเนื่อง เรื่องรอซื้อคงยาก ต้องเขย่งกระโดดซื้อ เวลาที่ต้องการได้เข้าพอร์ตเพิ่ม

เหตุผลเพราะหุ้นในเครือ SCC นั้นวิ่งเร็วกว่าความคิดเสมอ

Back to top button