พาราสาวะถี

เบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 1-5 พฤศจิกายน จะมีสายการบินต่างชาติทั่วโลกที่จะทำการบินเข้าประเทศไทยทั้งหมด 27 สายการบิน มีผู้โดยสารรวม 15,230 คน


เปิดไปพร้อมกันวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งการเปิดประเทศและเปิดเรียน แต่อย่างแรกไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน เมื่อวางเงื่อนไขมี 62 ประเทศ 1 เขตปกครองพิเศษสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว พร้อมมาตรการที่วางไว้ก็เป็นไปตามนั้น โดยวันแรกตามที่มีการรายงานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 1-5 พฤศจิกายน จะมีสายการบินต่างชาติทั่วโลกที่จะทำการบินเข้าประเทศไทยทั้งหมด 27 สายการบิน มีผู้โดยสารรวม 15,230 คน

ขณะที่การเปิดเรียนนั้น สิ่งที่คนอยากเห็นมากที่สุดคือการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนของเด็ก ๆ หรือการเรียนแบบออนไซต์ แต่เอาเข้าจริงส่วนใหญ่ก็เป็นการเปิดเรียนแบบออนไลน์ โดยเฉพาะในเด็กระดับมัธยมศึกษาที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่จำนวนไม่น้อยยังไม่ครบสองเข็ม ขณะเดียวกันทางโรงเรียนก็ยังกำหนดมาตรการและเตรียมความพร้อมไม่เรียบร้อย ซึ่งกลุ่มเด็กมัธยมนั้นคาดว่าน่าจะเปิดเรียนออนไซต์ได้อย่างเร็วคือกลางเดือนนี้

ส่วนสถานการณ์หลังจากการเปิดทั้งสองประเภทไปแล้วจะเป็นอย่างไร ด้านการเปิดประเทศ ศบค.บอกขอเวลา 1 สัปดาห์จะเห็นหน้าเห็นหลังก็ว่ากันตามนั้น ส่วนการเปิดเทอมคงต้องไปดูอีกหลายปัจจัย สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้เปิดเรียนแบบออนไซต์เลยก็ได้ เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ภายในประเทศที่พบว่ามีการเกิดคลัสเตอร์ใหม่หลายแห่ง สิ่งสำคัญคือยังไม่มีอะไรมาการันตีให้ผู้ปกครองมั่นใจเต็มร้อยเพื่อที่จะอนุญาตให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนได้

ด้านผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจังหวะที่มีการเปิดประเทศนั้น ได้เดินทางไปร่วมประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ แต่ก็ยังได้ส่งเสียงข้ามประเทศมาว่า ทุกอย่างเริ่มต้นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินต่าง ๆ ที่เข้ามายังประเทศไทยกว่า 60 เที่ยวบิน และได้รับรายงานว่าทุกส่วนงานมีความพร้อมได้รับการชื่นชมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ขายของกันก่อน ส่วนปัญหาค่อยว่ากันอีกที

มิติการเมืองช่วงเปิดสมัยประชุมสภาหนนี้ เห็นแววของกระแสร้อนฉ่าตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มประชุมกันแล้ว เมื่อมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากสองพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อไทยและก้าวไกล จากเดิมที่พรรคก้าวไกลเดินหน้าเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 112 และ 116 ซึ่งพรรคนายใหญ่ยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนหรือไม่ แต่วันนี้ได้ประกาศแล้วว่าสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายทั้งสองมาตรา ทำให้บรรดาคอการเมืองต่างพากันจับจ้องเป็นพิเศษ

แน่นอนว่าประเด็นอ่อนไหวคือการแก้ไขมาตรา 112 หนีไม่พ้นที่จะต้องมีอีกฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว ในสภานั้นไม่เป็นปัญหา แต่กลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งหากยึดตามหลักข้อเท็จจริงก็เหมือนที่ วิษณุ เครืองาม ว่า ก็เหมือนการแก้กฎหมายทั้งหลาย โดยถ้าเสียงส่วนใหญ่ในสภาเห็นด้วยก็ถือเป็นสิทธิของส.ส. และกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ไม่ต้องให้รัฐบาลไปรับรองอะไร สามารถเข้าชื่อเสนอต่อสภาได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม วิษณุยอมรับว่ากฎหมายที่มีความเคลื่อนไหวเสนอแก้นั้นมีความละเอียดอ่อน ทุกคนก็รู้อยู่ ซึ่งความละเอียดอ่อนจะไปมีกันตอนที่มีการอภิปรายว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน ถ้ายึดกันตามหลักการนี้ก็คงไม่มีปัญหา แต่เชื่อได้เลยว่าจะมีฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลแบบสุดโต่ง จะใช้วิธีตีกินทางการเมือง โดยยกประเด็นนี้มาโจมตีฝ่ายค้าน พร้อม ๆ กับการปลุกกระแสคนต่อต้านไปในตัวจนเกิดเป็นม็อบ เพราะไม่มีโอกาสไหนที่จะเล่นงานฝ่ายค้านได้ดีอีกแล้วในจังหวะที่รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลงแบบนี้

จะว่าไปแล้ว หากไม่มีวาระซ่อนเร้นใด ๆ เรื่องนี้ควรให้เป็นไปตามกลไกของสภา ใครเสนอใครสนับสนุน ใครไม่เห็นด้วย ก็ไปอภิปรายและใช้เสียงในสภาว่ากันไป ที่เป็นห่วงกันว่าจะมีเรื่องอ่อนไหว ในสภาสามารถประชุมลับกันได้อยู่แล้ว แต่วิษณุเองก็ยังมองว่าไม่น่าจะต้องประชุมลับ เพราะกฎหมายก็เป็นกฎหมายที่ทุกคนเปิดดู ก็เห็นอยู่ว่าข้อความมีว่าอะไร เว้นเสียแต่ว่าเวลาที่มีใครไปพูดอะไรที่แปลก ๆ เข้า ก็อาจจะมีการขอให้มีการประชุมลับ แต่ยังมองไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องไปประชุมลับอะไร

ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นที่ว่าหากปล่อยให้มีการอภิปรายในสภา ส.ส.จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นั่นก็แค่ส่วนหนึ่งที่ถือเป็นปกติที่มีการอภิปราย แต่เมื่อมีการถ่ายทอดการอภิปรายออกไป ผู้อภิปรายก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งก็มีขอบเขตในการอภิปราย เรื่องไหนที่ไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือองค์กรก็มีสิทธิที่จะถูกฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ แต่เบื้องต้นควรให้เรื่องนี้ได้ดำเนินไปตามกระบวนการจนสุดทางเสียก่อน ไม่ใช่ตั้งป้อมจะล้มกันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มขยับ

น่าสนใจกับฝ่ายที่ค้านหัวชนฝา ถ้าไปอ่านบทความของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ล่าสุดเรื่องทำไมฝ่ายอนุรักษนิยมโบราณจึงใช้อำนาจบังคับให้คนรักและศรัทธาตามตนเอง ก็น่าจะช่วยเตือนสติกันได้บ้าง คนกลุ่มหนึ่ง เชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ต่อสิ่งหนึ่ง แต่การเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ต่อสิ่งนั้น ในหมู่พวกเดียวกันเองยังไม่เพียงพอสาแก่ใจของพวกเขา พวกเขาต้องการให้ทุกคน เชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ต่อสิ่งนั้น จึงใช้อำนาจซึ่งแสดงออกผ่านหลายรูปแบบ

ตั้งแต่อำนาจรัฐ กฎหมาย ระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม กำลัง หรืออาวุโส เพื่อบังคับให้คนอีกกลุ่มที่ไม่ได้เชื่อ ไม่ได้รัก ไม่ได้ศรัทธา ไม่ได้เคารพ หรือรู้สึกเฉย ๆ ให้มาเชื่อ รัก ศรัทธา และเคารพ เหมือนพวกตน การที่มีคนไม่เชื่อ ไม่รัก ไม่ศรัทธา ไม่เคารพ แบบพวกตน ไม่ได้รบกวนหรือบั่นทอนทำให้ความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา ความเคารพ ที่มีนั้นลดน้อยลงไป พวกอนุรักษนิยมหัวโบราณยังมีเสรีภาพที่จะเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ในสิ่งนั้น ๆ ต่อไป รวมถึงมีเสรีภาพที่จะเลิกเชื่อ เลิกรัก เลิกศรัทธา เลิกเคารพสิ่งนั้น ๆ ได้ในวันหน้า

เราสามารถอยู่อย่างสันติได้ภายใต้ความคิด ความเชื่อ ความรักที่ต่างกัน ทำไมฝ่ายอนุรักษนิยมโบราณจึงไม่ใช้เหตุผลในการทำให้คนเชื่อ คนรัก ในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ตนเองรัก ทำไมต้องใช้กำลัง อำนาจบังคับ หรือเพราะไม่มีเหตุผลชุดใดหลงเหลืออีกแล้ว จึงต้องหันมาใช้อำนาจกำลังบังคับแทน ยิ่งใช้อำนาจบังคับให้คนเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ เท่าไหร่ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา ความเคารพต่อสิ่งนั้น ๆ ร่อยหรอเหลือน้อยลงไปทุกที สิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือการแอบอ้างสิ่งที่รักและศรัทธามาทำลายฝ่ายตรงข้ามเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง แต่ไม่คำนึงถึงความเสื่อมที่จะตามมา

Back to top button