พาราสาวะถี

เกิดการสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นโดยตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางดึกวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา


การสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นโดยตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางดึกวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา มีคำถามตามมาหลายประการ ในแง่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อกับสิ่งที่ตำรวจซึ่งขวางกั้นการทำงานของสื่อมวลชนในพื้นที่ พร้อมประกาศโดยอ้างถึงข้อตกลงที่ทำไว้กับ 6 องค์กรสื่อเรื่องเงื่อนไขในการทำงาน ถามว่าสมาคมวิชาชีพสื่อไปทำข้อตกลงผูกมัดให้ฝ่ายกุมอำนาจรัฐเข้ามากำกับ ควบคุม จำกัดการนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงได้อย่างนั้นหรือ

หากย้อนกลับไปตรวจสอบข้อตกลงที่ตำรวจป่าวประกาศว่าทำไว้กับ 6 องค์กรสื่อเมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนต่อการทำข่าวระหว่างการชุมนุมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช่การห้ามทำข่าวตำรวจที่มีการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด นั่นหมายความว่าสิ่งที่ยกมาอ้างคือการตีกินโดยใช้ข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นหลังพิง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับองค์กรสื่อที่ไปร่วมหารือและมีข้อตกลงร่วมกันว่า ยอมรับสิ่งที่ฝ่ายกุมอำนาจนำมาใช้แอบอ้างนี้หรือไม่

คนส่วนใหญ่จะได้เข้าใจตรงกันและรับรู้ด้วยว่าประเทศไทยวันนี้สิทธิ เสรีภาพ ตลอดจนจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมืออาชีพนั้น ได้ถูกองค์กรที่สถาปนากันขึ้นมานำไปใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยการันตีการทำงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน ด้วยอ้างข้อกฎหมายสารพัด ทั้งที่ปลายทางคือเพื่อสานต่อและรักษาฐานอำนาจให้กับขบวนการสืบอำนาจอย่างแข็งขัน โดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างแต่อย่างใด

ยิ่งสแกนไปภายในองค์กรที่ได้ชื่อว่าสมาคมวิชาชีพด้วยแล้ว หลายรายก็น่าจะยอมรับสภาพของตัวเองและควรจะปลดระวางตัวเองไปทำงานอย่างอื่นหรือที่ได้รับความเมตตาจากเผด็จการสืบทอดอำนาจได้แล้ว เพราะการเข้าไปมีตำแหน่งแห่งหนจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่ตามมาด้วยการสืบทอดอำนาจนั้น เป็นเรื่องที่ไร้ความสง่างาม ไร้ศักดิ์ศรีอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนจะไปสมสู่ ศิโรราบอยู่ใต้อุ้งตีนเผด็จการ

ขณะเดียวกัน การสลายการชุมนุมดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นธงที่ได้ถูกปักไว้แล้วว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจจะผลักดันเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะต่อไป โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่ตามสไตล์เผด็จการ มิหนำซ้ำ นักเลือกตั้งที่อ้างว่ามาจากพรรคที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ก็ยังอ้างหน้าตาเฉยว่าเสียงที่คัดค้านเป็นเสียงส่วนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่สนับสนุน คงลืมไปแล้วว่ายุคสมัยหนึ่งพวกของตัวเองก็สร้างวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา”

โจมตีกล่าวหาผู้นำรัฐบาลและพรรคการเมืองซึ่งชนะการเลือกตั้งมาโดยเสียงท่วมท้นว่าไม่ฟังฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย นี่ก็เป็นภาพสะท้อนของคนในพรรคการเมืองดังว่านี้ได้เป็นอย่างดีว่า ถนัดแต่สร้างวาทกรรม เอาดีเข้าตัว และประชาธิปไตยเป็นแค่เปลือกที่ใช้พูดเพื่อทำให้พรรคพวกตัวเองดูดีเท่านั้น ท้ายที่สุดเมื่อมีเรื่องผลประโยชน์ที่ต้องการเข้ามาเกี่ยวข้อง หางก็โผล่และลืมไปเสียสิ้นว่าในอดีตเคยพูดไว้อย่างไร จึงไม่แปลกที่ยิ่งนานวันพรรคการเมืองนี้จะอยู่ในภาวะสาละวันเตี้ยลง

เหนือสิ่งอื่นใดผลจากการสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กลายเป็นภาพตอกย้ำความบาดหมางที่บาดลึกระหว่าง ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับ ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้เป็นอย่างดี เพราะในตอนที่แม่บ้านพรรคสืบทอดอำนาจมีหัวโขนรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยมีบทสรุปที่เป็นบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกับกลุ่มคนที่คัดค้านด้วย

ปรากฏว่าเมื่อนักข่าวนำประเด็นนี้ไปถามกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ คำตอบที่ได้ก็คือ “แล้วตนไปตกลงหรือยัง ครม.ตกลงหรือยัง ก็ยัง” พร้อมออกตัวด้วยว่ากฎหมายอะไรก็ตาม บางทีการไปพบปะเจรจาของใครก็แล้วแต่ เวลาไปพูด ไปตกลงกันอย่าลืมว่าไม่ได้ผ่านครม. ตนเตือนหลายครั้งแล้วเวลาไปให้รับข้อสังเกตมาแล้วนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในรัฐบาล นั่นคือวิธีการทำงานของรัฐบาลจะต้องรอบคอบ แต่คำถามก็คือ แล้วที่ตั้งไปก็เพื่อให้คนนั้นไปเจรจาชะลอความขัดแย้งไม่ใช่หรือ

การที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจออกมาพูดเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการยืนยันการไม่เป็นมิตรกับธรรมนัสแล้ว ก็ยังเป็นการประจานและทำให้ประชาชนได้รับรู้กระบวนการทำงานของรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจไปในตัวด้วยว่า เวลาที่ประชาชนเดือดร้อนในปัญหาใดก็ตาม หากมีการตั้งใครไปเจรจาแล้วรับปากว่าจะแก้ไขให้ ต้องตามติดกันให้ดีว่ามีการนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.แล้วหรือไม่ ถ้าไม่ หมายความว่าอย่างไร เมื่อคนที่ไปรับปากมาไม่อยู่ในตำแหน่ง ก็จะแก้ต่างแก้ตัวกันง่าย ๆ แบบหน้าด้าน ๆ อย่างนี้ใช่หรือไม่

ขณะที่ธรรมนัสก็พูดถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า คงไม่มีใครรู้ และเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา ยกเว้นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้ ตนได้รับการประสานจากเพื่อนส.ส.หลายคนให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะเหมือนเดิม แต่ด้วยเหตุผลที่ตนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก แต่ก็ยังเป็นห่วงชาวจะนะและจะใช้ระบบสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาช่วยเหลือชาวจะนะต่อไป เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปถึงฝ่ายกุมอำนาจเหมือนกันว่าถ้าเล่นไม่ซื่อก็เจอกันในสภา

อย่าลืมเป็นอันขาดผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเวลานี้หวั่นไหวต่อความเคลื่อนไหวของฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นพวกเดียวกันเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ขณะที่ฐานเสียงซึ่งพรรคสืบทอดอำนาจหมายมั่นปั้นมือว่าจะได้จำนวนส.ส.เป็นกอบเป็นกำก็คือพื้นที่ภาคใต้ กรณีนี้เมื่อถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นการแสดงความไม่จริงใจ มันย่อมส่งผลสะเทือนกันทั้งพรรค เว้นเสียแต่ว่าท่านผู้นำจะมั่นใจในกระแสของตัวเองว่าไม่มีอะไรเสียหายนั่นก็อีกเรื่อง

สถานการณ์ทางการเมืองหากไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สามารถชี้นิ้วสั่งการได้ทุกเรื่อง ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ยิ่งมีเรื่องภาวะทางด้านอารมณ์ ความเดือดร้อนของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องยิ่งเป็นความละเอียดอ่อนที่ต้องระวังกันให้ดี ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วกับการที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพูดเรื่องทางด่วน มันยิ่งตอกย้ำปมความเหลื่อมล้ำ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการเข้ามาไม่ได้ลดปัญหาดังกล่าวแต่กลับหนักข้อมากขึ้นด้วยภาพ “รวยกระจุกจนกระจาย”

Back to top button