พาราสาวะถี

การยกเลิกการเดินทางเข้าราชอาณาจักรโดยไม่ต้องกักตัว หรือ Test & Go เพราะการห้ามคนจาก 8 ประเทศทวีปแอฟริกาเข้าประเทศไม่ใช่การป้องกันที่ถูกทาง


ไม่ต้องเป็นหมอก็คาดหมายกันได้กับสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เตือนไว้ตั้งแต่วันแรกที่ประกาศว่ามีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังว่าจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ศบค.ควรต้องประชุมและปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อให้ทันต่อการรับมือ โดยเฉพาะการยกเลิกการเดินทางเข้าราชอาณาจักรโดยไม่ต้องกักตัว หรือ Test & Go เพราะการห้ามคนจาก 8 ประเทศทวีปแอฟริกาเข้าประเทศไม่ใช่การป้องกันที่ถูกทาง

อย่างที่รู้ มีการพบผู้ป่วยสายพันธุ์ดังกล่าวกระจายตัวไปอย่างรวดเร็วในแทบจะทุกทวีป โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยก็มาจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นหลัก ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง แต่บรรดาหมอการเมืองทั้งหลายต่างก็พากันยืนยันว่า เมื่อยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนต่อเชื้อสายพันธุ์นี้ ก็ไม่ควรที่จะต้องออกมาตรการเข้ม เชื่อว่าระบบที่มียังเอาอยู่ แต่ผลของการพบผู้ติดเชื้อก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าน่ากังวล

โดยที่ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวยืนยันเองว่า โอมิครอนเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว สัดส่วนที่ตรวจพบในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3% จากสัปดาห์ที่แล้วที่ไม่ถึง 1% ยิ่งต้องกังวลหนักเข้าไปอีก เมื่อล่าสุดพบว่ามีผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายแรกแล้ว 1 ราย เป็นภรรยาของนักบินชาวโคลัมเบียที่เดินทางมาจากไนจีเรีย ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า นักบินคนดังกล่าวมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางมา และเมื่อถึงไทยตามระบบแซนด์บ็อกซ์มีการตรวจผลก็เป็นลบ

เมื่อครบกำหนดตามมาตรการของแซนด์บ็อกซ์จึงได้มีการอนุญาตให้นักบินรายดังกล่าวเดินทางกลับบ้านพักที่จังหวัดปทุมธานี ต่อมาอีก 2-3 วัน ก็เกิดการป่วยแล้วก็เข้ามาตรวจซ้ำพบว่ามีผลบวก นั่นหมายความว่า ช่วงแรกที่ให้ผลลบ เป็นไปได้ในหลักการว่าอยู่ในระยะฟักตัว และอาจจะติดเชื้อตั้งแต่ประเทศต้นทางก่อนมาถึงประเทศไทย ทำให้เกิดคำถามว่า ขนาดไม่ได้อยู่ในระบบ Test & Go ยังเกิดกรณีนี้ แล้วประเภทที่ไม่ต้องกักตัวไม่อยากนึกภาพว่าหากพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ประเด็นนี้อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยอมรับเช่นกันว่า เราต้องชั่งน้ำหนักว่าถ้ายังให้มีระบบ Test & Go แบบเดิมก็จะมีกรณีที่หลุดแบบนี้ และถ้าหากไม่มีอาการป่วยอะไรก็อาจจะไปแพร่เชื้อสู้คนอื่นได้ นั่นก็จะเป็นคลัสเตอร์ในประเทศเกิดขึ้นได้ ซึ่งฝ่ายนโยบายต้องช่วยกันพิจารณา การกำหนดประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคมนี้ ซึ่งยึดตามกำหนดวงรอบของการประชุม ถามว่ามันจะช้าไปกว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่หรือไม่

ต้องไม่ลืมว่ากว่าจะมีการประชุมและมีมติออกมา และต้องรอประกาศว่าจะให้มีผลเมื่อไหร่ มันอาจจะช้ากว่าการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนไปแล้วก็ได้ มาถึงนาทีนี้เหมือนที่ได้เน้นย้ำไปแล้วว่า ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน ไม่ใช่ยังจะมาหวังเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเพื่อเยียวยาภาวะถังแตกของรัฐบาล มันจะกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสีย นี่ก็เป็นบทพิสูจน์ข้อกังวลที่เคยได้บอกไปเช่นกันว่า ภายใต้สถานการณ์แบบนี้อย่าได้ไปคาดหวังจะทำให้กิจการ กิจกรรมต่าง ๆ กลับมาดำเนินได้ใกล้เคียงภาวะปกติเป็นอันขาด

เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่เพียงแค่กรณีโอมิครอนที่ถือว่าเข้าสู่โหมดน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น การผ่อนคลายมาตรการแล้วเปิดให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมากได้ ตามที่ศบค.ชุดใหญ่ได้เห็นชอบไปก่อนหน้า ที่ประกาศเข้มการรวมตัวของคนที่มากกว่า 1,000 คนขึ้นไปต้องมีมาตรการอย่างไร กรณีคอนเสิร์ตในงานช้างจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีคนเกินหลักหมื่นถึง 2 วัน คือ 25,000 คน และ 50,000 คนนั้น เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าสามารถควบคุมและดำเนินตามมาตรการที่กำหนดไว้หรือไม่

จนกระทั่ง “ป๋าเต็ด” ยุทธนา บุญอ้อม ผู้จัดคอนเสิร์ตใหญ่อย่างบิ๊กเมาท์เท่นที่เขาใหญ่ ซึ่งถูกสั่งยกเลิกการแสดงมาแล้วเมื่อปีก่อนหน้า ด้วยข้ออ้างไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุมเข้มป้องกันโควิด-19 จนปีนี้เจ้าตัวก็ไม่ได้จัดคอนเสิร์ตดังกล่าว ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “เห็นภาพงานช้างที่สุรินทร์เมื่อคืนนี้แล้วก็ได้แต่สงสัยว่าทำไม….ทำไมน้อ….” ในที่สุดทางจังหวัดก็มีคำสั่งให้ยกเลิกคอนเสิร์ตในงานดังกล่าวทั้งหมด แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความกังวลเรื่องคลัสเตอร์ใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นหมดไป

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และกระบวนการสั่งการเพื่อให้ทันต่อความเป็นไปที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เอาแต่อยู่บนหอคอยงาช้างแล้วอ้างว่าทุกอย่างได้มีนโยบายไปแล้ว ให้เป็นเรื่องของหน่วยงานปฏิบัติไปจัดการ แล้วก็รอนั่งหัวโต๊ะตามเวลาและวาระที่วางกันไว้ ทำงานเหมือนข้าราชการเต็มขั้น คำถามต่อมาคือภายใต้ความกังวลของประชาชนต่อโควิดโอมิครอน มันสมควรที่จะมาแสดงความดีใจที่ว่าประเทศไทยฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสแล้วหรือไม่

ทั้งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่โพนทะนาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ป่าวประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ ถามว่ามันน่ายินดีถึงขนาดนั้นเลยหรือ เมื่อลงลึกในรายละเอียดของตัวเลขที่บอกมา ปรากฏว่าที่ฉีดครบสองเข็มมีสัดส่วนที่ 61.63% เข็มสาม 6.97% เป็นเข็มแรกถึง 70.21% ซึ่งไม่ว่าจะหมอการเมืองหรือหมออาชีพต่างก็ยืนยันเหมือนกันแล้วว่า หากต้องรับมือกับสถานการณ์โควิดโอมิครอน สองเข็มยังไม่แน่ใจว่าจะเอาอยู่ สามเข็มก็ยังน่าเป็นห่วง

การแสดงออกลักษณะนี้จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าทั้งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อทั้งหลายสนใจแต่กระพี้ หรือแค่จะหาเหตุมาปลดล็อกความขุ่นข้องหมองใจของตัวเองที่ถูกตราหน้าเรื่องบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดก่อนหน้านี้เท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นอย่างไร และควรจะต้องรีบเร่งดำเนินการในเรื่องใด เวลานี้ความรู้สึกของประชาชนไปไกลกว่าจะมาสนใจว่าใครฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนกันแล้ว

หากแต่ทุกคน ทุกฝ่าย ต่างตั้งตาเฝ้ารอว่าฝ่ายกุมอำนาจจะมีมาตรการรับมือกับโควิดโอมิครอนที่เข้มข้นและมองเห็นภาพความชัดเจนว่าจะไม่สร้างผลกระทบโดยภาพรวมได้อย่างไร สิ่งที่ต้องมองข้ามช็อตกันไปแล้วก็คือ ถ้าโควิดกลับมาระบาดหนักอีกกระทอก กระบวนการทางการแพทย์และสาธารณสุขจะดำเนินการอย่างไร สิ่งสำคัญคือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและทีมเศรษฐกิจมีแนวทางวางไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่จะได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสอย่างไร

Back to top button