SWIFT ตัดหางรัสเซีย..ได้ไม่คุ้มเสีย.!?

6 ชาติใหญ่แห่งโลกตะวันตก ออกแถลงการณ์ร่วมประณามรัสเซีย กรณีการรุกรานยูเครน พร้อมประกาศที่จะลงโทษรัสเซีย ด้วยการโดดเดี่ยวจากระบบการเงินของโลก


วันที่ 26 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา 6 ชาติใหญ่แห่งโลกตะวันตก (อียู, สหรัฐฯ, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี) ออกแถลงการณ์ร่วมประณามรัสเซีย กรณีการรุกรานยูเครน พร้อมประกาศที่จะลงโทษรัสเซีย ด้วยการโดดเดี่ยวจากระบบการเงินของโลก

หนึ่งในนั้นคือ “การถอดธนาคารรัสเซียบางรายออกจากระบบสื่อสารของ SWIFT วิธีการนี้ทำให้ธนาคารดังกล่าวถูกกันออกจากระบบการเงินสากล”

อย่างไรก็ดีข้อเสนอการตัดรัสเซียออกจากเครือข่ายการชำระเงิน SWIFT เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมาก ตลอดช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” ประธานาธิบดียูเครน เสนอให้ใช้ข้อห้ามนี้ทันที เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลรัสเซีย แต่มีชาติยุโรปบางแห่งที่ค้าขายกับรัสเซียจะได้รับผลกระทบ ทำให้หลายชาติเกิดความลังเลกับการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

เมื่อ 10 ปีก่อน (ปีค.ศ. 2012) พบว่า “อิหร่าน” เคยถูกห้ามใช้ SWIFT เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ทำให้อิหร่านต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันเกือบ 50% และการค้าต่างประเทศ ลดลง กว่า 30%

สำหรับ SWIFT (สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก) ย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แทนที่ของเดิมอย่าง telex (teleprinter exchange) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1973 (ปีพ.ศ. 2516) มีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่ประเทศเบลเยียม มีการกำกับดูแลและควบคุมโดยธนาคารแห่งชาติของเบลเยียม และตัวแทนจากระบบธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารแห่งอังกฤษ, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และธนาคารกลางรายใหญ่อื่น ๆ

โดย SWIFT ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการโอนเงินระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีสถาบันการเงินกว่า 11,000 แห่งใช้บริการชำระเงินผ่านระบบ SWIFT ครอบคลุมการใช้งานใน 200 ประเทศ เรียกว่า SWIFT เปรียบเสมือนเสาหลักหรือเส้นเลือดใหญ่ของระบบการเงินของโลกในฐานะตัวกลางรับส่งข้อมูลการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมของธนาคาร

ปี 2021 ที่ผ่านมา พบว่า มีการส่งข้อมูลทางการเงินระหว่างกันบนระบบ SWIFT ถึง 42 ล้านครั้งต่อวัน ทั้งข้อมูลธุรกรรมคำสั่งซื้อ, การยืนยันการชำระเงิน การค้า และการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน โดย SWIFT เป็นเพียงตัวกลาง ไม่มีระบบฝากเงิน ไม่มีการถือเงินไว้ การควบคุมดูแลจึงมีลักษณะที่ต่างจากธนาคารโดยทั่วไป

ผลลัพธ์การห้ามรัสเซียไม่ให้ใช้ SWIFT จะส่งผลกระทบต่อบริษัทต่าง ๆ ที่ขายสินค้าและซื้อสินค้าจากรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี เนื่องจากรัสเซีย เป็นผู้จัดส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายหลักของสหภาพยุโรป และการหาแหล่งอื่นมาทดแทนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ จำเป็นต้องการหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ก็ตาม ที่ซ้ำเติมผลกระทบดังกล่าว

นั่นจึงทำให้ “การตัดรัสเซียออกจากเครือข่ายการชำระเงิน SWIFT” จึงอาจเป็นเพียงแนวคิด..แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่หลายชาติตะวันตก อาจต้องคิดหนักว่า เพราะผลลัพธ์อาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ก็เป็นได้..!?

Back to top button