สองขั้วเลือกผู้ว่า

การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในที่สุดก็เห็นหน้าค่าตา 8 ว่าที่ผู้สมัคร ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นตัวเก็งนำโด่ง


การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในที่สุดก็เห็นหน้าค่าตา 8 ว่าที่ผู้สมัคร ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นตัวเก็งนำโด่ง ภาษาการเมืองเรียกว่า “นอนมา” แต่ไม่มีใครชอบคำนี้ กลัวมีพระนำ

ชัชชาตินำทุกโพลตั้งแต่ต้น ทั้งความสามารถ ภาพลักษณ์ เป็นที่รักที่นิยมของคนเลือกพรรคฝ่ายค้าน แม้แต่คนเลือกอนาคตใหม่ก้าวไกลไม่น้อยก็รักชัชชาติ แถมประกาศตัวก่อนคนอื่น ทำนโยบายมาสองปีครึ่ง สร้างกลุ่มเพื่อนลงถึงสภากาแฟ

แต่การที่อดีตรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี หิ้วถุงแกงหาเสียงมาเกือบสามปี ไม่ได้เลือกตั้งสักที จนการเมืองเปลี่ยนหลายตลบ ก็น่าหวาดเสียวเหมือนกัน ว่าเงื้อง่านานเกิน พอลงสนามจริง ๆ  คู่แข่งอาจสดใหม่กว่า

เลือกตั้งผู้ว่าถูกลากมา 3 ปี จนจะมีเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า ทำให้ทุกพรรคต้องส่งสมัครเพื่อรักษาพื้นที่ เพื่อให้กิจกรรมการเมืองต่อเนื่อง พูดง่าย ๆ ว่าปีหน้าคุณจะลง ส.ส. ถ้านั่งเฉยปล่อยให้พรรคอื่นมาหาเสียงผู้ว่า สก. รอบบ้าน จะรักษาฐานได้อย่างไร

ทุกพรรคจึงต้องส่ง โดยเพื่อไทยกับพลังประชารัฐส่งเพียง สก. ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ ไทยสร้างไทย ส่งครบ แล้วยังมีทีมผู้ว่าอัศวิน รองผู้ว่าสกลธี บวกอดีต ส.ว.รสนาและพรรคพี่เต้ (ไปทุกงาน)

คะแนนเลือกตั้ง กทม.ปี 62 พรรคอนาคตใหม่ได้ 8 แสน พลังประชารัฐ 7.9 แสน เพื่อไทย 6 แสน ประชาธิปัตย์ 4.7 แสน คนเลือกพรรคอื่น 4.2 แสน โดยอนุมานได้ว่า ที่จริงเพื่อไทยมี 8-9 แสน แต่ติดไปกับอนาคตใหม่ในเขตไทยรักษาชาติถูกยุบ

แต่ 3 ปีการเมืองเปลี่ยนหลายตลบ ในซีกฝ่ายค้าน ก้าวไกลลงหลักปักฐานชิงคนรุ่นใหม่ “หญิงหน่อย” ก็แยกไปตั้งไทยสร้างไทย 30 ปีสุดารัตน์ ปักหลัก กทม.ฝั่งตะวันออก จะทิ้งฐานได้ไง

ซีกรัฐบาล พปชร.มี ส.ส.12 คน ปชป.กินไข่ โดย ส.ส.พปชร.หลายคนไปจาก สก.ปชป. รอบนี้ ปชป.หวังว่า พปชร.เสื่อมจะทำให้คนหวนเลือกสุชัชวีร์ แต่ ส.ส.พปชร. 12 คนก็ยอมไม่ได้ ไม่งั้นสมัยหน้าหมดอนาคต แม้พรรคไม่ส่งผู้ว่า ก็ต้องหนุนใครสักคน

ถึงขั้นไปดึง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. ลาออกมาเป็น ผอ.เลือกตั้ง จะหยวนยอมกันได้ไง

เลือกตั้งท้องถิ่นมี 2 ปัจจัยซ้อนกัน คือเลือกขั้วทางการเมือง กับเลือกตัวบุคคล ใน ตจว.ส่วนใหญ่เป็นอย่างหลัง “บ้านใหญ่” จึงกวาดเรียบ แต่ กทม.บางครั้งขั้วการเมืองชี้ขาดด้วยซ้ำ เช่น “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ทำให้ “ชายหมู” ชนะทั้งที่คนกรุงโคตรเบื่อ

เพียงแต่ครั้งนี้ พปชร.หลบกระแสตกต่ำ มีแต่ ปชป. กับผู้ว่า รองผู้ว่า ลงอิสระ แต่จะปฏิเสธความเป็นขั้วทางการเมืองได้อย่างไร ในความเป็นพรรคบอยคอตเลือกตั้ง ทิ้งสัญญาประชาคมร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจ หรือความเป็นผู้ว่า คสช.แต่งตั้ง เป็นรองผู้ว่า กปปส.เป่านกหวีดปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง

ในซีกฝ่ายค้าน ชัชชาติก็มาจากพลังการเมือง ในฐานะอดีตรัฐมนตรีผู้วาดฝัน กู้ 2 ล้านล้านสร้างอนาคตประเทศ กลับโดน “ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน” ตามด้วยรัฐประหารสืบทอดอำนาจ คนรักประชาธิปไตยจึงคุคั่ง อยากส่งชัชชาติถึงฝั่งฝัน เข้าไปแสดงฝีมือตบหน้ารัฐประหารตุลาการภิวัตน์

แต่ชัชชาติหวังดึงฐานเสียงที่กว้างกว่าเพื่อไทย จึงไม่ลงในนามพรรค หวังดึงคนเลือกฝ่ายค้านส่วนใหญ่ หวังคนกลาง ๆ หรือกระทั่งคนเลือกรัฐบาล จึงเสนอภาพลักษณ์คนทำงาน คนเก่งคนดีที่ไม่ควรถูกจำกัดด้วยขั้วการเมือง

ขณะที่สองปีครึ่งผ่านไป การเมืองยิ่งแหลมคม วิโรจน์ ก้าวไกล จึงบุกทะลวงโดยประกาศ “เข้าไปชน” ระบบราชการ เอาที่ทหารมาทำสวนสาธารณะ “ทวงคืนสนามหลวง”

คอยดูคนกรุงจะให้ความสำคัญด้านไหนมากกว่า ขั้วการเมือง หรือความสามารถ-นโยบาย

Back to top button