การเมืองเอเชียผลัดใบ

ในปีนี้มีการเปลี่ยนขั้วผลัดใบทางการเมืองในเอเชียหลายประเทศ แต่ที่เด่น ๆ และเป็นกระแสทั่วโลก น่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฮ่องกง และฟิลิปปินส์


ในปีนี้มีการเปลี่ยนขั้วผลัดใบทางการเมืองในเอเชียหลายประเทศ แต่ที่เด่น ๆ และเป็นกระแสทั่วโลก น่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ เพราะผู้นำใหม่ของสามประเทศนี้ ได้สร้างความกังวลและกังขาว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้นจริงหรือไม่  เนื่องจาก มีทั้งประวัติ ภาพลักษณ์และแนวนโยบายที่สร้างความกังวลให้กับประชาชนและนักวิจารณ์การเมืองทั้งสิ้น

ชาวเกาหลีใต้ได้เลือกคนหน้าใหม่ทางการเมืองอย่าง “ยุน ซุค-ยอล” อดีตอัยการสูงสุดวัย 61 ปี เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนที่ชนะคู่แข่ง ลี แจ-มุง  มาอย่างหวุดหวิด ไม่ถึง 1% สิ่งที่ยุนได้สัญญาหลังได้รับชัยชนะคือ จะใส่ใจกับความเป็นอยู่ของประชาชน จัดเตรียมสวัสดิการให้กับคนยากไร้ และสร้างความพยายามสูงสุดเพื่อทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่น่ามีความภาคภูมิใจ เป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ และโลกเสรี และยังสัญญาว่าจะ “รีเซ็ต” ความสัมพันธ์ใหม่กับจีนและเกาหลีเหนือ และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับสหรัฐฯ

แต่สิ่งที่คนเกาหลีใต้อยากให้ผู้นำใหม่มาแก้ปัญหามากสุด คือเรื่องราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง การเติบโตที่ชะงักงันทางเศรษฐกิจ การว่างงานของคนหนุ่มสาวและความเหลื่อมล้ำทางเพศ แต่ในระหว่างการหาเสียง เขากลับสัญญาว่า จะยุบ “กระทรวงความเสมอภาคทางเพศ และครอบครัว” เนื่องจากฐานเสียงของเขาเป็นผู้ชายวัยหนุ่มที่ส่วนหนึ่งเกลียดชังพวกสนับสนุนสิทธิสตรี และประกาศว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างเป็นระบบในเกาหลีใต้

นี่เป็นเพียงประเด็นสำคัญเพียงไม่กี่ประเด็นที่ผู้นำใหม่เกาหลีใต้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างรุนแรงตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบว่ายุนเหมือนกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ลองนึกย้อนเอาว่าทรัมป์ได้สร้างความวุ่นวายอะไรไว้ให้กับอเมริกาบ้าง

ฮ่องกงก็เพิ่งเลือก จอห์น ลี อดีตผู้บัญชาการตำรวจฝ่ายความมั่นคง วัย 64 ปี เป็นหัวหน้าคณะบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแทน แคร์รี่ แลม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม แต่เหตุผลสำคัญที่ทำลีได้เป็นผู้นำใหม่ฮ่องกง คือเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลปักกิ่ง สภาฮ่องกงโหวตเกินครึ่งจากคะแนนเสียงทั้งหมด 750 เสียง ในเวลาเพียง 3 นาที เนื่องจากฮ่องกงไม่มีการเลือกตั้งผู้นำโดยตรง

ลี เข้ารับราชการเป็นตำรวจฮ่องกงตั้งแต่ปี 2520 โดยเติบโตในหน่วยงานความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ บทบาทสำคัญที่ทำให้มีผลงานเข้าตารัฐบาลจีนคือ การคุมฝูงชนจากเหตุการณ์ “ม็อบร่มเหลือง” เมื่อปี 2562-63 และยังเป็นคนผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีการคัดค้านกันมากด้วย

แม้ว่าเคยเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ฮ่องกง 11 คนที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรเนื่องจากจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของคนฮ่องกง และผลการสำรวจความนิยมของคนฮ่องกงเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ว่า ลีมีคะแนนนิยมต่ำมากเพียง 34.8% แต่การที่รัฐบาลปักกิ่งยังเลือกเขา นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนไม่ไว้ใจรัฐบาลและชาวฮ่องกง และต้องการควบคุมฮ่องกงอย่างจริงจังเพียงไร

สมาคผู้สื่อข่าวฮ่องกงกังวลว่า ประชาชนอาจจะต้องข้อหาอาชญากรรมเพียงเพราะแค่แสดงความคิดเห็นของตนเอง นอกจากนี้ยังมีความกังวลที่ผู้นำใหม่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจและสวัสดิการทางสังคมด้วย นับจากนี้ไป ฮ่องกงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเงินโลก น่าจะต้องพยายามอย่างหนักที่จะรักษาตำแหน่งนี้ไว้ให้ได้หลังจากที่ต้องกระเสือกกระสนอยู่แล้วเพราะการระบาดของโควิด และการจัดระเบียบใหม่ของรัฐบาลจีน

มาที่ฟิลิปปินส์  ประชาชนได้เข้าคูหาเลือกประธานาธิบดีใหม่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เกิดการถกเถียงกันมากสุด เนื่องจาก ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้มีทั้งบุตรสาวของประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ไปจนถึงบุตรชายอดีตเผด็จการ เฟอร์ดินัน มาร์กอส และอดีตนักมวยชื่อก้องโลกอย่าง ปาเกียว แมนนี่

ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวานนี้ชี้ว่า เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” วัย 64 ปี ชนะ เลนี่ โรเบรโตอย่างถล่มทะลาย แต่ชัยชนะของบองบอง สร้างความงุนงงและผิดหวังให้กับคนที่ยังจดประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ได้ดี และไม่เข้าใจว่า ลูกชายของทรราชกลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกได้อย่างไร

หลังจากถูกโค่นอำนาจด้วยการปฏิวัติของพลังประชาชนเมื่อปี พ.ศ. 2529 ตระกูลมาร์กอสกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการทุจริตที่ฉาวโฉ่ไปทั่วโลก โดยพบหลักฐานที่ชี้ว่า มาร์กอส และอีเมลดา ภรรยาและคนสนิท ได้โกงและยักยอกเงินของประเทศไปถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในยุคที่มาร์กอสเรืองอำนาจ โดยคาดว่า มีการจับกุมและทรมานกลุ่มคนที่เห็นต่างจำนวนหลายหมื่นคน

มีการวิเคราะห์กันว่า ชัยชนะของบองบองนอกจากมาจากฐานเสียงของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต้ ที่ลูกสาวของเขา คือ ซารา ดูเตอร์เต้ มาลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเขาแล้ว ยังเป็นผลมาจากการใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อ “ลบล้างประวัติศาสตร์” แม้เป็นข้อกล่าวหาที่ตระกูลมาร์กอสปฏิเสธ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเฟซบุ๊กที่เต็มไปด้วยโพสต์โฆษณาชวนเชื่อ และคอยออกมาปกป้องตระกูลมาร์กอส

การเมินสื่อหลัก และใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลของบองบอง ทำให้คนฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยหลงเชื่ออย่างสนิทใจโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันการปฏิวัติพลังประชาชน  และถึงกับเปรียบการปกครองของมาร์กอสว่าเป็น ยุคทอง” ของฟิลิปปินส์ ทั้งที่ในความเป็นจริงในสมัยนั้นเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ใกล้จะล่มสลาย และติดหนี้ธนาคารต่างชาติมหาศาล

ตัวบองบองเอง ก็เคยถูกศาลตัดสินมีความผิดฐานหลบเลี่ยงภาษีขณะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2538 แต่ก็ยังได้ลงสมัครเลือกตั้งทั้งที่ควรถูกตัดสิทธิ์

ฟิลิปปินส์ในยุคของมาร์กอสจูเนียร์ ต้องเกิดการแบ่งขั้วกันอย่างแน่นอนแต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ว่า มันอาจจะเป็น “แบบอย่างทางการเมือง” และสร้างความหวัง ให้กับ “อดีตเผด็จการ” ในประเทศอื่น ๆ ที่หวังจะเจริญรอยตามและฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ไม่ยาก

การเปลี่ยนขั้วผลัดใบของการเมืองในเอเชีย น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ภูมิภาคเป็นอันมาก แต่ต้องรอดูกันว่ามันจะเป็นไปในทางที่ “ดีขึ้น” หรือ “ถอยหลังเข้าคลอง”

Back to top button