ดอกเบี้ย – หวยออนไลน์ หนุน KTB วิ่งสู้ฟัด

หุ้น KTB ในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คึกคักตามกระแสฮอตฮิตที่ “สลากดิจิทัล” ซึ่งจำหน่ายงวดแรกหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลา 5 วัน


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คึกคักตามกระแสฮอตฮิตที่ “สลากดิจิทัล” ซึ่งจำหน่ายงวดแรกหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลา 5 วัน โดยมีจำนวนผู้ซื้อกว่า 1.2 ล้านคน นับว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศเป็นอย่างดี

สลากดิจิทัล หรือ สลากออนไลน์ เป็นโครงการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของ KTB ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 มีจำนวนสลากดิจิทัลทั้งหมดในระบบ 5,279,500 ฉบับ มีผู้ค้าสลากฯ ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10,513 ราย

สลากดิจิทัลเป็นโครงการตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขายสลากฯ เกินราคา 80 บาทนั่นเอง

การเปิดจำหน่ายสลากดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นแอปฯ ที่โดดเด่นเพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ผู้คนจึงรู้จักและคุ้นชิน ดังนั้นเมื่อถูกนำมาเป็นช่องทางการขายสลากดิจิทัลก็ส่งผลให้ KTB กลายเป็นขวัญใจชาวหวยออนไลน์ เพราะซื้อง่ายขายคล่องไปด้วย

นอกจากนี้ กรณีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะเพิ่มจำนวนสลากฯ ให้สามารถซื้อขายผ่าน “เป๋าตัง” มากขึ้น ยิ่งส่งผลบวกต่อ KTB ในอนาคต เนื่องจาก KTB จะได้รับค่าธรรมเนียมจากการขึ้นรางวัลสลากฯ 1% ของมูลค่าเงินรางวัล (ไม่รวมอากรแสตมป์ 0.5%)

หุ้น KTB สะท้อนแรงหนุนนี้โดยในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดกระแส “สลากดิจิทัล” หุ้น KTB วิ่งจากระดับ 14.70 บาท (25 พฤษภาคม 2565) มาที่ 15.40 บาท (8 มิถุนายน 2565) และวิ่งทะลุ 15.90 บาท (9 มิถุนายน 2565) ซึ่งเป็นนิวไฮ (New High) เดิมในรอบ 1 ปีขึ้นไปอีกด้วย แม้ระหว่างทางจะมีแรงขายทำกำไรกดให้ราคาต่ำลงมา แต่ในรอบสัปดาห์นี้ราคาหุ้นก็ยังไม่เคยหลุด 15 บาทเลย

เมื่อมีกระแสตอบรับสลากดิจิทัลเข้ามาอย่างล้นหลาม จึงมีคำถามว่าแล้วหุ้น KTB จะได้รับอานิสงส์อีกยาวนานแค่ไหน ราคาหุ้นจะคึกคักต่อไปหรือไม่ หลังปรับตัวขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด มีมุมมองว่า หุ้นตัวนี้มี “อัพไซด์” (Up side) จำกัดแล้ว และลดคำแนะนำเป็น “ถือ” เพื่อรอรับผลตอบแทนเงินปันผลที่ 4.3% ในปีนี้ และ 4.7% ในปีหน้า จากเดิมแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายตามมูลค่าพื้นฐานที่ 16.70 บาท

ด้วยเหตุผลว่าเพื่อสะท้อน Up side ที่จำกัดเพียง 6% เพราะราคาหุ้นที่สูงขึ้นส่วนใหญ่สะท้อนภาพรวมผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1 และแนวโน้มกำไรสุทธิที่เติบโตดีในปี 2565 นี้ไปแล้ว ขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงในไตรมาส 2 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส จากการตั้งสำรองหนี้ที่สูงขึ้น

ปัจจัยพื้นฐานของ KTB ปรับดีขึ้นจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพของสินเชื่อที่ยืดหยุ่น เช่นเดียวกับธนาคารอื่น ๆ และแม้คาดว่ากำไรในไตรมาส 2 ปีนี้จะเติบโตขึ้นจาก 6 พันล้านบาทในงวดปีก่อน

ทว่า KTB จะตั้งสำรองสูงขึ้นในไตรมาส 2-4 จากไตรมาส 1 ตั้งสำรอง 5.5 พันล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสนี้จะลดลงเหลือราว 6.5-7.0 พันล้านบาท หลังจากผ่านจุดสูงสุดของปีที่ 8.8 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

ขณะที่ การจำหน่ายสลากดิจิทัลผ่านเป๋าตังเชื่อว่ามีปัจจัยหนุนมาจากการที่มีผู้ใช้แอปฯ นี้อยู่แล้วราว 33 ล้านราย ซึ่ง KTB มีโอกาสสร้างรายได้ผ่านแอปฯ G-wallet ในอนาคต แต่ไม่คิดว่าจะมีการรับรู้รายได้ในระยะสั้นนี้ และยังคงสมมติฐานการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ดังนั้น คงประมาณการการเติบโตของกำไรสุทธิที่ 19% ในปีนี้ หนุนจากการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลงและรายได้การดำเนินงานที่สูงขึ้น แต่คาดกำไรสุทธิจะเติบโตต่อเนื่อง 9% ในปี 2566 และ 10% ในปี 2567

ด้านบล.กรุงศรี มองว่า KTB จะได้รับค่าธรรมเนียมจากการขึ้นรางวัลสลากฯ อย่างไรก็ตามประเมินว่ากำไรสุทธิจากการขายสลากฯ ผ่านเป๋าตังมีจำนวนเพียงเล็กน้อย จากจำนวนที่ขาย 5.2 ล้านใบผ่านเป๋าตัง

ส่วนในกรณีดีสุด หากมีการจำหน่ายสลากฯ ทั้งหมด 100 ล้านใบ ที่มีมูลค่ารางวัลรวม 4.6 พันล้านบาท ในแต่ละงวด ประเมินว่าหากขายสลากฯ ออนไลน์ทั้งหมด และมีการขึ้นเงินรางวัลทั้งหมดผ่านแอปเป๋าตัง คาด KTB จะได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ประมาณ 1.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของกำไรสุทธิ

นอกจากนี้ ราคาหุ้น KTB ไม่มี upside จากราคาเป้าหมายที่ประเมินไว้ที่ 15.50 บาทต่อหุ้น ดังนั้นจึงแนะนำเพียง “ถือ” เท่านั้น

KTB เหมือนจะหมดข่าวดี แต่เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งซิกจ่อขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือน ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นในอนาคต หุ้นกลุ่มแบงก์ได้รับการ “เพิ่มน้ำหนัก” (Overweight) ขึ้นทันที ดันให้หุ้นตัวนี้ไปต่อ

เมื่อประเมินจาก 2 ข่าวดี ทั้งจากพฤติกรรมของคนไทยที่รักและผูกพันกับตัวเลขมาอย่างยาวนาน คาดว่ากระแสฮอตฮิตของสลากดิจิทัลจะไม่จางหาย ประชาชนทั่วประเทศจะยังให้การต้อนรับอย่างล้นหลามเช่นเดิม ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจเพิ่มจำนวนสลากฯ เพื่อจำหน่ายผ่านเป๋าตังมากขึ้นเป็น 100 ล้านใบ หรือมากกว่านั้นอย่างแน่นอน

แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะได้เห็นในปีนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25% ก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกช่วยหนุนหุ้น KTB วิ่งสู้ฟัดต่อไปได้อีกระดับหนึ่ง

Back to top button