วิธีการฆ่าตัวตายทางลัด

ในกรณีของบริษัทจดทะเบียน ที่ถือเป็นนิติบุคคล ถือว่าไม่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น เว้นเสียแต่ในบางกรณีที่เราจะเห็นเล่ห์กระเท่ของบริษัทที่ “เน่าในเละเทะ”


การฆ่าตัวตายของมนุษย์ ถือเป็นบาปชนิดหนึ่ง ที่สร้างปัญหาถึงขั้นองค์การอนามัยโลกต้องถึงกับวางนโยบายที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายของทุกประเทศลงร้อยละสิบ ระหว่างปี ค.ศ. 2013-2020

ในปัจจุบันมีคนฆ่าตัวตายที่อัตราเฉลี่ย ทุก ๆ 40 นาที หรือเฉลี่ยปีละ 800,000 คนโดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่มีตำราขายดีอันดับหนึ่งตลอดกาล แนะว่าวิธีฆ่าตัวตายที่ง่ายสุดและเร็วสุดคือ กระโดดตึก ส่วนรองลงไปคือกระโดดลงไปบนรางรถไฟใต้ดินที่กำลังจะเข้าสถานีจอด

ในจำนวนคนฆ่าตัวตายเหล่านี้ มีตัวเลขของคนไทยรวมอยู่ด้วยปีละเฉลี่ย  4 พันคน หรือ 0.5% ของยอดรวมทั่วโลก แต่ก็ถือเป็นผู้นำในชาติอาเซียนเลยทีเดียว เพียงแต่ตัวเลขนี้วงการแพทย์ถือว่า ต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะหลายคนไม่ได้แจ้งความจริง  ส่วนคนที่ฆ่าตัวตายแล้วสำเร็จ คิดเป็นประมาณ 40% ของคนที่พยายามจะฆ่าตัวตาย

ที่น่าสนใจตรงที่กว่าครึ่งของคนที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้สูงอายุ แต่วัยรุ่นก็เริ่มมีสถิติไล่ขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่เป็นสาเหตุการตายอันดับสองของคนกลุ่มนับรองจากอุบัติเหตุทีเดียว

สาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นมีมากหลาย แต่คนที่ล้มเหลวที่จะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะสารภาพว่า เหตุผลหลักคือต้องการหลบหนีจากชีวิตก่อนหน้าที่ ”เหลือจะทานทน” มากกว่าต้องการจะตายจริง ๆ

ที่น่าสนใจคือทั่วโลกนั้นมีจำนวนคนฆ่าตัวตายเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเกินสี่เท่า  แสดงให้เห็นว่าผู้ชายทนต่อแรงกดดันในชีวิตต่ำกว่าผู้หญิง อย่างมีนัยสำคัญ

ในกรณีของบริษัทจดทะเบียน ที่ถือเป็นนิติบุคคล ถือว่าไม่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น เว้นเสียแต่ในบางกรณีที่เราจะเห็นเล่ห์กระเท่ของบริษัทที่ “เน่าในเละเทะ” ฟื้นตัวได้ยากเย็นเพราะกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แสดงท่าทีแบบต้องการฆ่าบริษัทในกำมือให้ย่ำแย่ตลอดไป นับตั้งแต่การปล่อยให้กิจการขาดทุนปีแล้วปีเล่าเรื้อรัง ราคาหุ้นต่ำติดพื้น แล้วผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหารตั้งค่าใช้จ่ายแบบเกินจริงให้ตนเองเพื่อ “บอนไซ” กิจการ หรือการเพิ่มทุนไปเรื่อย ๆ เพื่อผ่องถ่ายในลักษณะ “ดูดเลือดดี ใส่เลือดเลว” จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาก็งดส่งงบการเงินต่อเนื่องกันนาน 3 ปี จนตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทนดูไม่ได้ต้องสั่ง delisted จากตลาดไป ซึ่งเป็นการสมเจตนา…เนื่องจากบริษัทจะฉกฉวยโอกาสไม่ต้องทำการซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่กลายเป็นเหยื่อไป อย่างช่วยไม่ได้

ล่าสุด มี 1 บริษัทจดทะเบียนที่กำลังเดินบนเส้นทางที่ว่านี้ อย่างน่าสะเทือนใจแทนผู้ถือหุ้นที่ถูกเชือดอย่างเลือดเย็นด้วยคำหวานที่หลอกให้ตายใจ ผ่านการเพิ่มทุนราคาต่ำกว่าพาร์เกือบครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดส่วนต่ำมูลค่าหุ้นที่กดราคาหุ้นลงทันควัน แถมยังแจกวอร์แรนต์อายุแค่ 1 ปี เพื่อกันไม่ให้มีการแปลงสิทธิ์หรือเอกเซอร์ไซส์ขึ้นมาอีก

ขาดเพียงที่ยังไม่ได้ทำกันคือ เร่ขายกิจการที่ขาดทุนเรื้อรังเพราะคนซื้อไม่ยอมรับราคาหุ้นแบบ “ย้อมแมวขาย” อีกต่อไป

ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ยากคือ บริษัทนี้จะ “แห้งตายหยังเขียด” โดยปริยาย ไม่ต่างจากกรณีของหุ้นอย่าง IFEC หรือ GL ที่รอวันตัดสินชะตากรรมเท่านั้นเอง

เหตุผลที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะไม่ได้จงเกลียดจงชังผู้บริหารหรือกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่แต่อย่างใดเลย…แต่เป็นเพราะเห็นปรากฏการณ์ที่ซ้ำซากมาแล้วนั่นเอง

เรื่องดังกล่าวเป็นการเตือนสติก่อนนักลงทุน…โดยไม่มีจุดประสงค์อย่างอื่น

Back to top button